Statistiche web
นราธิวาส วัชพืชไร้ค่านำมาสร้างงานมูลค่าเรือนหมื่นให้กับชาวบ้านยี่งอ จากรายได้เสริมเป็นอาชีพหลักแล้ว

วันนี้จะพามารู้จักกับพืชเศรษฐกิจอีกอย่างหนึ่ง เป็นพืชที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน และสามารถสร้างรายได้ได้ตลอดทั้งปี นั่นคือ ย่านลิเภาๆ คือวัชพืชชนิดหนึ่งเป็นพืชตระกูลเฟิร์นหรือเถาวัลย์ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือตามต้นไม้ที่มีความชุ่มชื้นส่วนใหญ่จะขึ้นที่ภาคใต้ เส้นของย่านลิเภาจะมีลักษณะพิเศษค่อนข้างเหนียวอยู่ได้เป็นนานนับปี

กลุ่มศิลปาชีพพิเศษย่านลิเภาหมู่บ้านบลูกาสนอ ม.4 ต.ตะปอเยาะ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส จะใช้บ้านนายยะโก๊ะ สามะเต๊ะ อายุ 77 ปี เป็นจุดศูนย์กลางในการผลิตชิ้นงานกับย่านลิเภา และเป็นอีกหนึ่งตำบลตัวอย่างที่สร้างรายได้หลักให้กับแม่บ้าน หลังจากเสร็จสิ้นจากอาชีพกรีดยางพารา โดยใช้วัตถุดิบย่านลิเภาที่ขึ้นธรรมชาติตามสวนยางพาราและสวนผลไม้ใกล้ตัว มาผลิตขายเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวในอีกทางหนึ่ง มาเป็นเวลาถึง 43 ปีแล้ว

น.ส.ซูไรดา สามะเต๊ะ ซึ่งเป็นประธานกลุ่มศิลปาชีพพิเศษย่านลิเภาหมู่บ้านบลูกาสนอ เล่าว่า พ่อหมายถึงนายยะโก๊ะ ได้เพื่อนจากเรือนจำแนะนำมาให้สานกระเป๋า ตั้งแต่นั้นมาพ่อก็ได้สานมาเรื่อยๆ สักช่วงหนึ่งได้เจอกับพระองค์ท่านหมายถึง พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เวลาท่านเสด็จพระองค์ท่านเห็นว่า วัชพืชนี้ในหมู่บ้านเรามีเยอะไม่ต้องที่สรรหามาจากไหนและประหยัดค่าใช้จ่าย และสามารถหาที่จะมาทำเพิ่มรายได้ๆ ตั้งแต่นั้นมาพ่อก็ทำมาเรื่อยๆ และมีท่านผู้หญิงแนะนำและแต่งตั้งพ่อเป็นครูสอนสานย่านลิเภาประจำหมู่บ้านกลุ่มของบ้านบลูกาสนอ ก็ได้จัดตั้งเป็นกลุ่มในช่วงนั้นมีลูกศิษย์เยอะและทำมาจนถึงทุกวันนี้

ส่วนย่านลิเภาที่ใช้มาสานชิ้นงานนั้น จะมี 2 ชนิดด้วยกัน คือ สีน้ำตาลจะเป็นย่านลิเภาที่ขึ้นตามสวนยางพาราและสวนผลไม้ในหมู่บ้าน ส่วนสีดำจะเป็นย่านลิเภาที่ขึ้นอยู่ในป่าพรุ ซึ่งย่านลิเภาที่สามารถเก็บมาสานชิ้นงานนั้น อย่างน้อยต้องมีอายุ 1 ปี หรือจะสังเกตได้ง่ายคือถ้าย่านลิเภาที่สลัดใบก็สามารถเก็บมาสานชิ้นงานได้เลย ส่วนชิ้นงานที่กลุ่มศิลปาชีพพิเศษย่านลิเภาหมู่บ้านบลูกาสนอ ผลิตในปัจจุบันมีหลายแบบหลายชนิด อาทิ ถาด กระเป๋าต่างๆ กล่องใส่ตุ้มหู พาน หรือชิ้นงานที่ผู้บริโภคสั่งทำตามความต้องการ จะเป็นรูปร่างลักษณะ กลม วงรี สามเหลี่ยมและสี่เหลี่ยม โดยชิ้นงานแต่ละชิ้นจะมีอายุผลิตภัณฑ์เก็บได้นานนับปี

ส่วนวิธีการทำผลิตภัณฑ์จากย่านลิเภา ถือว่าค่อนข้างยากและต้องใช้สมาธิความอดทนกว่าจะได้สักชิ้น เพราะกรรมวิธีและขั้นตอนค่อนข้างซับซ้อน  เริ่มจากการหาย่านลิเภาที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป แล้วนำย่านลิเภามาฉีกด้วยมีดให้เป็นเส้นฝอยตามขนาดที่ต้องการ ส่วนเคล็ดลับถ้าฉีกตอนย่านลิเภาชื้นจะฉีกได้ง่ายกว่าฉีกย่านลิเภาตอนเส้นแห้ง เก็บสต๊อกไว้ให้มีปริมาณเพียงพอที่จะทำชิ้นงานแต่ละชิ้น จากนั้นนำก้นของฝากระป๋องปลากระป๋อง หรือก้นของกระป๋องนม นำมาเจาะรูขนาดเล็กไปหาขนาดใหญ่ ประมาณ 5 รู เพื่อไว้ให้ย่านลิเภาที่เราฉีกออกมาเป็นเส้น สอดเข้าไปรูดในช่องก้นของกระป๋องของปลากระป๋องทีละเส้นจากใหญ่ไปหาเล็ก ตามความต้องการที่จะนำมาใช้ผลิตชิ้นงานหรือผลิตภัณฑ์นั้นๆ ส่วนการขึ้นชิ้นงานแต่ละชิ้นจะใช้หวายเป็นแกนฐานของการทำผลิตภัณฑ์ โดยจะใช้เหล็กปลายแหลมที่ทำขึ้นมา เจาะนำที่หวายให้เป็นรูแล้วนำเส้นย่านลิเภามาสอดเข้าไปสานสลับไปเรื่อยๆ ซึ่งงานแต่ละชิ้นจะใช้เวลาในการสานไม่ต่ำกว่า 3 เดือน จึงทำให้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์จากย่านลิเภาจึงมีราคาแพง กลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มสตรีที่ค่อนข้างมีฐานะ หรือ คุณหญิงคุณนายที่ถือกระเป๋าย่านลิเภาออกงาน ที่เราจะเคยพบเห็นกันตามงานหรือมหกรรมที่ยิ่งใหญ่อลังการ

ด้าน น.ส.ซูไรดา สามะเต๊ะ ซึ่งเป็นประธานกลุ่มศิลปาชีพพิเศษย่านลิเภาหมู่บ้านบลูกาสนอ กล่าวเพิ่มเติมว่า พร้อมหยิบงานให้ชมพร้อมบอกว่า ชิ้นงานหรือผลิตภัณฑ์นี้ซึ่งเป็นกระเป๋าสำเร็จจะมีราคาแพงนิดหนึ่ง ด้านในจะกรุ๊ปชิ้นงานก็อยู่ประมาณ 14,000 ถึง 15,000 บาท จะมีหลายรูปแบบหลายหลายรูปทรงรวมถึงลวดลายต่างๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เราลงดิ้นทองสำเร็จ จะมีราคาตั้งแต่ 3,000 บาท ถึง 18,000 บาท ท่านใดสนใจในชิ้นงานย่านลิเภา ซึ่งถือเป็นยุคทองสมัยพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงฟื้นฟูการนำเอาเถาหรือย่านลิเภามาสานเป็นกระเป๋าหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ หากเดินทางมาในพื้นที่ จ.นราธิวาส คราวใดอย่าลืมไปเยียนกลุ่มศิลปาชีพพิเศษย่านลิเภาหมู่บ้านบลูกาสนอ ม.4 ต.ตะปอเยาะ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส เพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ย่านลิเภาของกลุ่มแม่บ้าน ท่านจะไม่ผิดหวังอย่างแน่นอนขอรับประกัน      

ภาพ – ข่าว/ซาการียา/จ.นราธิวาส

Share This