Statistiche web
นราธิวาส หัตถกรรมจักรสานเตยทะเล1เดียวที่นราฯนำลวดลายศิลปะลังกาสุกะเป็นอัตลักษณ์ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์

​กลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านค่าย ม.2 ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส เป็น 1 ในโครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มีนายโสภณ อีแมลอดิง อายุ 78 ปี เป็นประธาน ที่มีแนวคิดนำสมาชิกกว่า 20 คน พัฒนาผลิตภัณฑ์งานหัตถกรรมจักรสาน ด้วยการนำต้นเตยปาหนัน หรือต้นลำเจียก ที่ชาวบ้านทั่วไปจะรู้จักกันในนาม เตยทะเล ซึ่งเป็นพืชตระกูลปาล์มเกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยเฉพาะริมทะเลมีพุ่มเป็นกอขนาดกลาง สีเขียวมีหนามที่ริมใบ ลักษณะคล้ายกับใบเตยหอมที่นำมาทำขนม

​โดยนายโสภณ เล็งเห็นว่าในพื้นที่มีต้นเตยปาหนัน หรือเตยทะเล มีขึ้นตามชายหาดหรือริมทะเลเป็นจำนวนมาก น่าที่จะนำมาแปรรูปเกี่ยวกับงานหัตถกรรมจักรสาน หลังจากที่พบเห็นว่าต้นเตยปาหนัน หรือ เตยทะเล กอหรือพุ่มที่ใบเหี่ยวเมื่อแห้งจะเป็นสีเทา มีลักษณะสีสันที่สวยงามหากนำมาจักรสานผสมผสานกับใบกระจูดหรือใบลาน ที่กลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านค่าย ดำเนินกิจการอยู่แล้วน่าจะเป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ได้ดี

​ทางกลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านค่าย จึงมีการทดลองนำใบของต้นเตยปาหนัน หรือ เตยทะเล มาแปรรูปจนประสบความสำเร็จถือว่าเป็นกลุ่มพัฒนาอาชีพ 1 เดียวที่นราธิวาส นำต้นเตยปาหนัน หรือ เตยทะเล มาแปรรูปจนสามารถจักรสานชิ้นงานหรือผลิตภัณฑ์ ร่วมกับต้นกระจูดและใบลานได้อย่างลงตัว

​ส่วนกรรมวิธีการแปรรูปต้นเตยปาหนัน หรือ เตยทะเล จนสามารถนำมาจักรสานผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆได้นั้น มีกรรมวิธีหลายขั้นตอน เริ่มจากเลือกใบเตยปาหนัน หรือ เตยทะเลที่มีสีเขียวเข้ม แล้วเอามีดปาดส่วนที่เป็นส้นใบและหนามริมใบทั้ง 2 ข้างออก จากนั้นใช้มีดที่ทำขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษที่มีคมมีด 3 อัน ที่มีขนาดแต่ละช่องของคมมีดเท่าๆกัน กรีดนำไปที่ใบของเตยปาหนัน หรือ เตยทะเล ซึ่ง 1 ใบ จะได้ใบเตยปาหนัน หรือ เตยทะเล ที่มีขนาดเท่าๆกันเพียง 4 ชิ้นเท่านั้น เมื่อได้ใบเตยปาหนัน หรือ เตยทะเลที่ต้องการ ต้องนำมาต้มในน้ำเดือดประมาณ 10 นาที จากนั้นนำมาตากแดดให้แห้ง แล้วนำมารีดให้แต่ละเส้นเรียบ ก่อนที่จะนำไปจักรสานเป็นชิ้นงานหรือผลิตภัณฑ์นั้นๆตามต้องการ

​โดยที่กลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านค่าย จะนิยมนำใบต้นเตยปาหนัน หรือ เตยทะเล ไปจักรสานผสมผสานร่วมกับใบกระจูดและใบลาน เนื่องจากจะให้สีสันที่สวยงาม และเมื่อจักสานเป็นลวดลายต่างๆ ชิ้นงานหรือผลิตภัณฑ์นั้นๆ จะมีสีสีนที่สวยงามและโดดเด่น กว่าที่ชิ้นงานหรือผลิตภัณฑ์ที่สานเฉพาะกระจูด หรือ ใบลาน

​ส่วนการผลิตชิ้นงานหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆภายในกลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านค่าย ก็ไม่แตกต่างกับการตัดเย็นเสื้อผ้าทั่วไป คือ ชิ้นงานหรือผลิตภัณฑ์จะต้องมีการออกแบบว่าจะเอาแบบหรือรูปทรงใด ก็เขียนแบบลงในกระดาษแล้วตัดมาทาบกับชิ้นงานที่จักรสานแล้วเสร็จ จากนั้นก็นำไปเย็บกับจักรอุตสาหกรรม ถ้าใส่ลวดลายต่างๆก็นำลายลวดลายนั้นๆไปพร้อมในขั้นนี้นี้เลย ซึ่งที่กลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านค่าย จะนำลวดลายลังกาสุกะ หรือ เราจะพบเห็นกันทั่วไปที่เขานิยมปักลงในหมวกกะปิเยาะห์ ที่ผู้ชายนับถืออิสลามนิยมสวมใส่กันทั่วไปในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทางกลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านค่าย ต้องการแสดงออกถึงอัตลักษณ์วัฒนธรรมของชายแดนภาคใต้ ในการสืบทอดให้ลูกหลานรุ่นหลังได้พบเห็นและกล่าวขาน

​โดยผลิตภัณฑ์ที่กลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านค่าย มีหลายรูปแบบ ทั้ง กระเป๋าใส่เสื้อผ้า กระเป๋านักเรียน กระเป๋าถือ กล่องใส่กระดาษทิชชู พวงกุญแจ กระเป๋าสตางค์ ของชำร่วย และรูปแบบต่างๆที่ให้ลูกค้าสั่งทำ ส่วนผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายจะมีด้วยกัน 3 ส่วน คือ 1. ส่งไปยังร้านภูฟ้า ซึ่งเป็น 1 ในโครงการพระราชดำริ ที่ช่วยเหลือส่งเสริมอาชีพประชาชนในถิ่นทุรกันดาร 2. ส่งให้ตัวแทนจำหน่ายในประเทศมาเลเซีย และ 3. ลูกค้าขาจรที่มาซื้อและสั่งทำที่ทำการกลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านค่าย ซึ่งมีจะมีราคาตั้งแต่ชิ้นละ 50 บาท ถึง 600 บาท ส่วนราคาที่ลูกค้าสั่งทำเป็นพิเศษก็จะมีจำหน่ายชิ้นละ 1,200 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดและรูปแบบ

​ด้านนายโสภณ ประธานกลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านค่าย กล่าวว่า ตนเองทำมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ส่วนใหญ่สินค้าส่งร้านภูฟ้า ซึ่งเป็นโครงการสมเด็จพระเทพฯ มีตั้งแต่ราคา 50 บาท แพงที่สุด 500 ถึง 600 บาท มีการปักลวดลายลังกาสุกะ กำลังส่งเสริมในแพร่หลายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีเอกลักษณ์ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สนใจติดต่อสั่งซื้อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์  080 5169098 หรือทางเฟสบุ๊ค กลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านค่าย จ.นราธิวาส

ข่าว/ซาการียา/จ.นราธิวาส

Share This