ที่มาของภาพ, Reuters
การศึกษาระดับโลกชิ้นหนึ่งพบว่า ผู้คนมากขึ้นเรื่อย ๆ เลี่ยงที่จะเสพข่าว โดยให้เหตุผลว่ามันน่าหดหู่ ไม่หยุดหย่อน และน่าเบื่อ
ผู้คนทั่วโลกเกือบ 4 ใน 10 (39%) บอกว่า พวกเขาจงใจเลี่ยงไม่เสพข่าวบางครั้งหรือบ่อยครั้ง โดยตัวเลขเดี่ยวกันนี้สำหรับการสำรวจในปี 2017 อยู่ที่ 29% จากรายงานของสถาบันรอยเตอร์ (Reuters Institute) ที่อยู่ภายใต้มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด
รายงานฉบับดังกล่าวยังระบุด้วยว่า สงครามในยูเครนและในตะวันออกกลางอาจเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้คนอยากหลีกเลี่ยงการเสพข่าว
รายงานฉบับดังกล่าวยังระบุด้วยว่า การหลีกเลี่ยงการเสพข่าวอยู่ในระดับสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการสำรวจ
มีผู้คนวัยผู้ใหญ่กว่า 94,943 คนใน 47 ประเทศทั่วโลก ที่ถูกสำรวจความคิดเห็นโดย YouGov ในเดือน ม.ค.-ก.พ. ปีนี้ สำหรับเป็นข้อมูลในรายงาน Digital News Report ประจำปีนี้
End of เรื่องแนะนำ
นี่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผู้คนหลายพันล้านคนทั่วโลกต้องเข้าคูหาเลือกตั้ง ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น
รายงานฉบับนี้พบว่า การเลือกตั้งได้เพิ่มความสนใจข่าวในหลายประเทศ รวมถึงในสหรัฐอเมริกาด้วย
อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า แนวโน้มโดยรวมยังคงเป็นขาลง กล่าวคือผู้คนทั่วโลกสนใจและเสพข่าวน้อยลง
มีผู้คนทั่วโลก 46% ที่บอกว่า พวกเขาสนใจข่าวอย่างมาก โดยตัวเลขนี้ลดลงจาก 63% ในปี 2017
ในสหราชอาณาจักรเอง ความสนใจในข่าวลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2015
"ประเด็นข่าวในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ยากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด" นิค นิวแมน ผู้เขียนหลักของรายงานฉบับดังกล่าว บอกกับบีบีซี
"ที่ผ่านมาเรามีสถานการณ์โรคระบาดและสงคราม ดังนั้นมันจึงเป็นปฏิกิริยาธรรมชาติจากผู้คนที่จะเบือนหน้าหนีจากข่าว ไม่ว่าจะเพื่อปกป้องสุขภาพจิต หรือแค่พวกเขาต้องการทำสิ่งอื่น ๆ ในชีวิตก็ตาม"
ที่มาของภาพ, Getty Images
นิวแมนบอกว่า กลุ่มคนที่เลือกที่จะหลีกเลี่ยงการเสพข่าว มักทำเช่นนั้นเพราะว่าพวกเขารู้สึก "ไร้พลังอำนาจ"
"คนเหล่านี้คือคนที่รู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถทำอะไรกับเรื่องใหญ่ ๆ ทั้งหลายที่กำลังเกิดขึ้นบนโลกได้" เขากล่าว
บางคนอาจรู้สึกสับสนและท้วมท้นจากข่าวปริมาณมหาศาลที่ไหลเข้ามา ในขณะที่คนอื่น ๆ รู้สึกเหนื่อยล้าจากเรื่องการเมือง เขากล่าวเพิ่มเติม
รายงานดังกล่าวยังพบด้วยว่า กลุ่มผู้หญิงและคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มมากกว่าคนกลุ่มอื่นที่จะรู้สึกเหนื่อยล้าจากข่าวสารจำนวนมากที่อยู่รอบตัว
ในขณะเดียวกัน ระดับความเชื่อมั่น (trust) ในข่าวยังคงอยู่ในระดับเดิมที่ 40% แต่นี่ก็ยังคงต่ำกว่าจุดสูงสุดในช่วงที่เกิดวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 อยู่ 4%
ในสหราชอาณาจักร ระดับความเชื่อมั่นในข่าวเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย มาอยู่ที่ 36% แต่ยังถือว่าต่ำกว่าช่วงก่อนการมีประชามติเบร็กซิทในปี 2016 กว่า 15%
ทั้งนี้ บีบีซีถือว่าเป็นแบรนด์ข่าวที่ได้รับความเชื่อมั่นมากที่สุดในสหราชอาณาจักร ตามมาด้วย Channel 4 และ ITV
ที่มาของภาพ, Getty Images
รายงานดังกล่าวยังพบด้วยว่า กลุ่มผู้เสพข่าวทางช่องทางดั้งเดิม เช่นทางโทรทัศน์หรือสิ่งพิมพ์ ได้ลดลงอย่างมากในทศวรรษที่ผ่านมา โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่นิยมที่จะรับข่าวสารผ่านทางออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียมากกว่า
ในสหราชอาณาจักร ผู้คนเกือบ 3 ใน 4 (73%) บอกว่าพวกเขาได้รับข่าวสารผ่านทางออนไลน์ ในขณะที่มีเพียง 50% และ 14% เท่านั้น ที่ระบุว่ารับรู้ข่าวผ่านทางทีวีและหนังสือพิมพ์ตามลำดับ
โซเชียลมีเดียที่สำคัญที่สุดในการเสพข่าวยังคงเป็นเฟซบุ๊ก แม้ว่ามันจะอยู่ในช่วงขาลงระยะยาวก็ตาม
ทั้งนี้ ยูทิวบ์และวอตส์แอปยังคงเป็นแหล่งเสพข่าวสำคัญสำหรับหลายคน ในขณะที่ติ๊กตอกอยู่ในช่วงขาขึ้นและมีบทบาทมากขึ้น และได้กลายเป็นแหล่งเสพข่าวสำคัญแซงหน้าเอ็กซ์ (ชื่อเดิม ทวิตเตอร์) เป็นครั้งแรกในปีนี้
โดยมีผู้คนกว่า 13% ที่ใช้ติ๊กตอกในการรับทราบข่าวสาร โดยตัวเลขเดียวกันสำหรับแพลตฟอร์มเอ็กซ์อยู่ที่ 10%
นอกจากนี้ สัดส่วนผู้ที่ใช้ติ๊กตอกในการเสพข่าวยังสูงขึ้นอีกสำหรับกลุ่มคนอายุ 18-24 ปี โดยสัดส่วนทั่วโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 23%
ที่มาของภาพ, Getty Images
เรื่องที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแพลตฟอร์มในการเสพข่าวก็คือ ตอนนี้วิดีโอถือเป็นแหล่งข่าวออนไลน์ที่สำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มคนอายุน้อย
ผู้เขียนรายงานฉบับดังกล่าวยังระบุด้วยว่า วิดีโอสั้นถือว่าดึงดูดคนกลุ่มนี้มากที่สุด
"ผู้บริโภคเสพวิดีโอมากขึ้นเพราะว่ามันใช้ง่าย และยังมีเนื้อหาที่หลากหลายซึ่งเกี่ยวข้องกับพวกเขาและสนุก" นิวแมน กล่าว
"แต่สำนักข่าวจำนวนมากยังคงยึดติดอยู่กับวัฒนธรรมการรายงานด้วยบทความข่าว และเผชิญความยากลำบากในการปรับวิธีการเล่าเรื่อง"
รายงานฉบับนี้ยังบอกด้วยว่า การใช้พอดคาสต์ในการเล่าข่าวถือว่ายังมีอนาคต กระนั้นมันก็ถือว่ามีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับทั้งหมด โดยดึงดูดเฉพาะกลุ่มผู้ฟังที่มีการศึกษาสูงเป็นหลัก
ในขณะเดียวกัน รายงานดังกล่าวยังพบด้วยว่า สาธารณชนมีความสงสัยอย่างแพร่หลายว่า มีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการรายงานข่าวหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข่าวที่จริงจังอย่างการเมืองหรือสงคราม
"ผู้คนไม่กังวลกับการใช้เอไอในการช่วยทำงานสนับสนุนเบื้องหลัง เช่นการถอดบทสัมภาษณ์หรือการแปล แต่กังวลหากมันมาแทนที่ตัวนักข่าว" รายงานดังกล่าวระบุเพิ่มเติม
© 2024 บีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก. อ่านเกี่ยวกับแนวทางของเราในการติดต่อกับลิงก์ภายนอก
ปทุมธานี วัดพระธรรมกายจัดธรรมยาตราปีที่ 13 ต้อนรับพระ 1,141 รูปเสริมสิริมงคลรับปี2568
หลวงพ่อทัตตชีโว เป็นประธานสงฆ์ พร้อมด้วย พระครูปลัดรัตนวีรวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ได้เมตตาเดินนำคณะพระธรรมยาตรา จำนวน 1,141 รูป ในโครงการธรรมยาตรา กตัญญูบูชา มหาปูชนียาจารย์ พระมงคลเทพมุนี […]