ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.รอง ผบ.ตร.(มค) เปิดเผยว่า ตามนโยบายรัฐบาล ที่ตระหนักและให้ความสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความหลากหลายทางวิชาการ โดยมุ่งหวังให้ทุกภาคส่วนมีส่วนสำคัญในการผลักดันความร่วมมือดังกล่าวให้บรรลุผลสำเร็จ ตามคำสั่งคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการรักษาความปลอดภัยและการจราจร เพื่อเตรียมการจัดการประชุมฯ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสำเร็จลุล่วง โดยมี พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. เป็นประธานอนุกรรมการฯ และได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.รอง ผบ.ตร.(มค) เป็นรองประธานอนุกรรมการฯ
พล.ต.ท.ประจวบฯ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการรักษาความปลอดภัยและการจราจร เพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 ตร. เพื่อวางกรอบในการปฏิบัติงานด้านการรักษาความปลอดภัย การอำนวยความสะดวกการจราจร พิธีการคนเข้าเมือง การจัดทำแผนรักษาความปลอดภัย การจัดตั้งกองอำนวยการร่วม การดำเนินการด้านงบประมาณเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติรวมถึงแจ้งการมอบหมายภารกิจ ให้แก่หน่วยปฏิบัติในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยร่วมปฏิบัติได้รับทราบ โดยมี ผู้แทน บช.น., สยศ.ตร., บก.ส.1 และ ผค. พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย มท., กต, สธ., สลน., สมช., สขช., สกมช., จท., กทพ., กพท, บก.ทท., ทบ., ทร., ทอ., ภ.1, บช.ก., สตม., บช.ทท., สงป., บมจ.ทอท., บมจ.การบินไทย, บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม โดยได้กำชับให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง จัดทำปฏิทินการปฏิบัติงาน และกำหนดกรอบระยะเวลา การเตรียมความพร้อมให้ชัดเจน เป็นปัจจุบัน ถึงวันประชุม จนเสร็จสิ้น เน้นย้ำให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละทุ่มเท ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ปลอดภัย จนจบภารกิจ
พล.ต.ท.ประจวบฯ กล่าวว่า ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล สำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation (BIMSTEC) เป็นกรอบความร่วมมือทางวิชาการและเศรษฐกิจระหว่าง 7 ประเทศในอ่าวเบงกอล ประกอบด้วย บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมาร์ เนปาล ศรีลังกา และไทย เป็นกรอบเดียวที่เชื่อมเอเชียใต้เข้ากับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโดยที่ไทยและเมียนมาร์เป็นประเทศอาเซียน 2 ประเทศที่เป็นสมาชิก BIMSTEC ทำให้ไทยอยู่ในสถานะเป็นสะพานเชื่อมโยง
อนุภูมิภาคทั้งสอง และเป็นกลไกหนึ่งที่ไทยสามารถขยายความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ ซึ่งจะมีการจัดประชุมขึ้นในระหว่างวันที่ 2 – 4 ก.ย.67 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ โดยมีผู้นำ และรัฐมนตรีจาก 7 ประเทศสมาชิก เข้าร่วมประชุมในสาขาความร่วมมือ 14 สาขา ประกอบด้วย 1.การค้าและการลงทุน 2.เทคโนโลยี 3.คมนาคม 4.พลังงาน 5.ท่องเที่ยว 6.ประมง 7.เกษตร 8.สาธารณสุข 9.การจัดการสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ 10.การต่อต้านการก่อการร้าย และอาชญากรรมข้ามชาติ 11.การลดความยากจน 12.วัฒนธรรม 13.ปฏิสัมพันธ์ในระดับประชาชน 14.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
พล.ต.ท.ประจวบฯ รรท.รอง ผบ.ตร. ขอบคุณและขอให้ทุกหน่วยปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรอบคอบ ชัดเจน ตามภารกิจของหน่วย เพื่อให้การปฏิบัติงานของคณะอนุกรรมการด้านการรักษาความปลอดภัยและการจราจรฯ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ผู้นำประเทศบิมสเทค รัฐมนตรีหรือเทียบเท่า และผู้เข้าร่วมประชุม มีความปลอดภัยสูงสุด ประทับใจ ตลอดการพำนักในประเทศไทย .
นิวัตร ธาตุอินจันทร์ เชียงใหม่