เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติได้หวนกลับคืนมามีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง ชาวบ้านก็เริ่มทำนา ปลูกข้าว ปลูกพืชสวนพืชไร่กัน เขียวขจีชุ่มฉ่ำไปทั่วท้องทุ่ง ที่หมู่บ้านป่าบงเปียง ต.ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ชึ่งเป็นหมู่บ้านที่ทำนาขั้นบันได ที่ถือกันว่าเป็น”นาขั้นบันได“ ที่สวยที่สุดเป็นสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทย-เทศ มาเที่ยวชมกันอย่างต่อเนื่อง และในช่วงนี้ได้ทำนากันแล้ว ชึ่งผลพลอยได้จากการทำนานอกจากแต่ละครอบครัวจะมีข้าวไว้เก็บกินบริโภค มีรายได้จากการท่องเที่ยว มีอาหารจากท้องนา เช่นพืชผัก สัตว์เล็กๆเช่น กบ เขียด ปูนา และอื่นๆด้วย
สำหรับ”ปูนา“ ในนาข้าวบ้านป่าบงเปียง จะมีการแพร่พันธุ์เยอะมาก ชึ่งเป็นอีกเมนูหนี่งที่ชาวบ้านชอบบริโภคกันมาก จากภูมิปัญญาของชาวบ้านที่สืบทอดกันมายาวนาน จากการถนอมอาหารจากปูนา มาผลิตเป็น”น้ำปู“ หรือชาวล้านนาเรียกว่า”น้ำปู๋“ สำเนียงภาษานั้นเอง ในช่วงนี้ชาวบ้านนิยมทำน้ำปูกันเพราะน้ำปูในฤดูนี้จะให้รสชาติที่มีกลิ่นหอมอร่อยเนื่องจากตัวปู มีความอุดมสมบูรณ์ หากทำในฤดูอื่นจะทำให้รสชาติน้ำปูเปลี่ยนไป ทางชาวบ้านนำปูนามาตำบดกับสมุนไพรพื้นบ้าน ปรุงรสตามสูตรของแต่ละคน แล้วหมักไว้ 1 คืน พออีกวันก็กรองเอาแต่น้ำ นำมาใส่หม้อตั้งไฟทำการเคี่ยวน้ำปู แทบทั้งวันจนแห้งมาเป็นน้ำปู หรือ “น้ำปู๋” ของชาวบ้านป่าบงเปียง ที่มีกลิ่นหอมรสชาติจัดจ้าน ที่ลือชื่อเก็บไว้บริโภคได้ตลอดทั้งปี ประจวบเหมาะกับช่วงหน้าฝนนี้ที่มีหน่อไม้งอกออกมา อาหารที่นิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลาย เป็นของ”คู่กัน“ หนีไม้พ้น “น้ำพริกน้ำปูกับหน่อไม้ต้ม“
อย่างไรก็ตามการเคี่ยวน้ำปู ของชาวบ้าน มีกลิ่นที่ค่อนข้างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย และแม่ลูกอ่อน หมู่บ้านหลายพื้นที่ที่ผลิตน้ำปูจำนวนมากเพื่อจำหน่าย ทางหมู่บ้านได้ออกกฎ ห้ามเคี่ยวน้ำปูในหมู่บ้าน ให้แยกออกไปเคี่ยวที่อยู่ห่างไกลออกไปเพื่อลดผลกระทบทางกลิ่นต่อชาวบ้าน
ภาพ-ข่าว นิวัตร ธาตุอินจันทร์ เชียงใหม่