นายฐิติวัฒน์ ว่องวรรณกุล กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทยเป็นประธานเปิด “โครงการฟื้นฟูอาชีพและส่งเสริมธุรกรรมออนไลน์เพื่อชุมชน”เพื่อส่งเสริมอาชีพ และช่องทางการตลาด ให้แก่ผู้ประกอบการ OTOP ของจังหวัดสกลนคร ที่หอประชุมอำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร โดยมี นายสุทธิเมศวร์ บุญแสนกุลธวัช นายอำเภออากาศอำนวย พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ สถาบันสารสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร เครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) และประชาชนชาวอำเภออากาศอำนวย ให้การต้อนรับและร่วมกิจกรรม
โอกาสนี้ นายฐิติวัฒน์ ว่องวรรณกุล กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย พร้อมคณะ ได้เยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ชุมขนเครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง(ภาฯ) แบ่งเป็นประเภทอาหารเครื่องดื่ม เวชสำอาง ได้แก่ ขนมเทียนแก้วหนองโสก สมุนไพร ต.ไร่ สบู่ดาวเรือง ข้าวเม่าบ้านคอนศรี อ.วานรนิวาส ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย จากกลุ่มทอผ้าต่างๆ ของ อ.อากาศอำนวย ผลิตภัณฑ์จากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภออากาศอำนวย (ภายใต้พื้นที่ของมูลนิธิฯ) ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านถ้ำเต่า ตามฮอยครามวิเศษ กลุ่มสตรีสหกรณ์ทอผ้าบ้านอากาศ ศิริวัฒน์ฟาร์ม วิสาหกิจชุมชนบ้านบะหว้า คีรีคราม กลุ่มสตรีทอผ้าพื้นเมืองบ้านโคกไม้ล้ม ม.5 ทองสิริผ้าคราม เปลือกไม้ใบคราม วิสาหกิจชุมชนข้าวเม่าหวานบ้านนายอ กลุ่มทอผ้ามัดหมี่ครามบ้านโคกไม้ล้ม ม.13 นายฮ้อยผ้าคราม วิภากรผ้างามครามสกล และกลุ่มสตรีทอผ้าชุมชน 2
นายฐิติวัฒน์ ว่องวรรณกุล กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย กล่าวว่า มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ดำเนินงานมากว่า 29 ปี จัดตั้งตามพระดำริของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ โดยทรงดำรงตำแหน่งเป็น นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิรา เทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนและเชื่อมโยงให้ภาครัฐ เอกชน และชุมชนโดยมีพันธกิจในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย 3 ด้าน ตั้งแต่การเฝ้าระวัง การบรรเทาทุกข์ และการฟื้นฟูอย่างครบวงจร สำหรับกิจกรรมในวันนี้เป็นภารกิจด้านการฟื้นฟูและการพัฒนาอาชีพ โดยมูลนิธิฯได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ เพื่อมาบรรยายให้ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยการนำภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ท้องถิ่นมาสร้างมูลค่า รวมทั้งยกระดับผลิตภัณฑ์ของชุมชนให้ได้มาตรฐาน สามารถสร้างรายได้จากการประกอบอาชีพและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่มีในท้องถิ่นและการเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์ โดยทุกภาคส่วนได้ร่วมกันส่งเสริม และพัฒนาเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักและสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนในชุมชนได้อย่างยั่งยืนต่อไป
วัฒนะ แก้วก่า / สกลนคร