ตามที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้ร่วมกับ 77 จังหวัด และ กทม. ดำเนินการคัดเลือกอาหารถิ่นประจำจังหวัด ตามโครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่นสู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste) ประจำปี 2567 โดยแต่ละจังหวัดมีคณะกรรมการประจำจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้แทนที่เป็นประธาน เพื่อดำเนินการคัดเลือก รวมทั้งเปิดให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดร่วมโหวตเมนูที่ควรได้รับการคัดเลือกในจังหวัดตนเองพร้อมกันทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1-9 ส.ค.67 ที่ผ่านมานั้น ล่าสุด สวธ. ได้ประกาศผลการคัดเลือก 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น “รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste” ประจำปี 2567 แล้ว โดยมีเมนูอาหารที่ให้ประชาชนร่วมโหวตทั่วประเทศ 563 รายการ แบ่งเป็นเมนูอาหารคาว 234 รายการ เมนูอาหารหวาน 184 รายการ เมนูอาหารว่าง 143 รายการ และเมนูอาหารอื่น 2 รายการ
สำหรับ จ.นราธิวาส เมนูอาหารถิ่น 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น “รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste” ชื่อว่า “ตูปะซูตง”หรือ (หมึกยัดไส้ข้าวเหนียว) เป็นคำที่ถอดเสียงมาจากภาษายาวี ของพี่น้องชาวมุสลิมที่ใช้กัน ตูปะซูตง มาจากคำว่า “ตูปะ” กับ “ซูตง” ตูปะ หมายถึงข้าวเหนียวต้มนึ่ง ส่วน ซูตง หมายถึง ปลาหมึก กลายเป็น” ตูปะซูตง”ซึ่งเป็นอาหารกึ่งคาวกึ่งหวาน โดยส่วนใหญ่ก็จะเรียกเป็นของหวานมากกว่า หาทานยาก เพราะว่าขายไม่ค่อยได้กำไรเท่าไหร่ค่อนข้างแพง มีรสชาติหวานมัน มีรสชาติมันๆ ของกะทิและหวานๆ จากน้ำตาลแว่น โดยไม่มีกลิ่นคาวของปลาหมึก เนื่องจากได้ใช้ใบตะไคร้มาเป็นตัวดับกลิ่นคาว เป็นอาหารพื้นถิ่นของชาวมุสลิม 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่หาทานได้ยาก และมีความโดดเอกลักษณ์ วัฒนธรรมของคนในพื้นที่ ซึ่งคนที่จะทำ “ตูปะซูตง” เป็นจะได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นที่มักจะทำให้ลูกหลานทานกันในบ้าน สืบทอดมาจากปู่ ย่า ตา ยายที่ทำให้ทาน เพื่อเป็นการอนุรักษ์อาหารพื้นถิ่นของชาว 3 จังหวัดให้คงอยู่ ส่วนวัตถุดิบเราสามารถหาในพื้นที่ได้ง่าย อุปกรณ์ที่ใช้ทำก็เป็นอุปกรณ์ในครัวเรือน รวมถึงยังต่อยอดสร้างอาชีพและรายได้อีกด้วย
สำหรับวัตถุดิบหลักของ ”ตูปะซูตง”ประกอบด้วย ปลาหมึก ข้าวเหนียว น้ำตาลแว่น กะทิ น้ำตาล เกลือ หอมแดง ใบเตย ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด รากผักชี พริกไทย สำหรับขั้นตอนการทำก็จะเริ่มจากการนำข้าวเหนียวมาล้างให้สะอาดแล้วแช่ข้าวเหนียวกับน้ำร้อนประมาณ 3 ชั่วโมง นำปลาหมึกที่เตรียมไว้มาตัดแยกหัว แยกตัว ตัดปากและตาที่ดำออก แล้วล้างให้สะอาด และในส่วนของข้าวเหนียวที่จะนำมาบัดไส้นั้น จะเริ่มจากการนำข้าวเหนียวใส่ในกะทะใส่กะทิลงไปตามด้วยรากผักชีที่ตำพร้อมกับกระเทียม ตามด้วยพริกไทยเล็กน้อยและน้ำตาลแว่น จากนั้นปรุงด้วยเครื่องปรุงอื่นๆ จากนั้นคนให้เข้ากันจนกว่าข้าวเหนียวจะสามารถปั้นเป็นก้อนได้ จากนั้นก็นำข้าวเหนียวมายัดใส่ในตัวปลาหมึก อย่าให้แน่นมากเพราะหมึกจะแตกเวลาต้ม นำหนวดปลาหมึกมาปิดไว้แล้ว เสียบด้วยไม้กลัด นำไปต้มกับหางกะทิใส่วัตถุดิบที่เตรียมไว้ลงไปต้มเติมน้ำเปล่าลงไป รอจนเดือดโดยเคี่ยวกับไฟอ่อนๆ พอน้ำเริ่มเหนียวๆ ก็เป็นอันเสร็จ สามารถนำขึ้นมารับประทานได้เลย
ด้านนางสาวประภัสสร ประจันตะเสน ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 25 นราธิวาส กล่าวว่า ภารกิจหลักของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 25 นราธิวาส ส่งเสริมการฝึกอาชีพให้กับแรงงานในพื้นที่ สำหรับรายการอาหารที่ได้รับการประกาศ 1 จังหวัด 1 เมนู ซึ่งเป็นอาหารพื้นถิ่น และจังหวัดนราธิวาสก็ได้ถูกคัดเลือกเป็นอาหารคาวหวานเป็น “ตูปะซูตง” ซึ่งอาหารประเภทนี้ ซึ่งชาวจังหวัดนราธิวาสก็จะทำกินกันภายในครอบครัว เพราะฉะนั้นเมื่อจังหวัดเราได้รับเลือกเลือกอาหารพื้นถิ่นรสชาติที่หายไป เราก็จะมารณรงค์เพื่อที่จะส่งเสริมต่อยอดให้ได้รับการพัฒนาและสืบทอด ซึ่งในขั้นตอนนี้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 25 นราธิวาส ก็จะฝึกอบรมให้กับกลุ่มนำร่องก่อนคือกลุ่มแม่บ้านตำรวจ เพื่อที่จะทำเป็นเมนูที่ได้รับการคัดเลือก และจะขยายผลให้กับกลุ่มแม่บ้าน คนว่างงานที่สนใจที่จะทำอาหารประเภทนี้ นำไปขายในท้องถิ่นเพื่อที่ให้นักท่องเที่ยวได้มาชิมอาหารรสชาติที่เราคัดเลือกมาแล้วว่าเป็นอาหารที่จะคงไว้เป็นอาหารถิ่นของจังหวัดนราธิวาส
ขณะที่นางสาวนูรฮายาตี บือราเฮง กล่าวว่าหลังจากที่ได้มีโอกาศมาเรียนรู้การทำขนมและอาหารต่างๆที่ศูนย์ฝึกอาชีพบ้านลำภู by ครูหมูแฮม ก็สามารถนำความรู้ที่ได้เรียนมานำไปใช้ประโยชน์และนำไปต่อยอดและนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ให้กับคนที่ขาดโอกาส อีกทั้งยังสามารถนำความรู้ที่ได้สร้างอาชีพสร้างรายได้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย
ข่าว/ซาการียา/จ.นราธิวาส