อาชีพปอกแห้วสร้างรายได้ของชาวบ้าน หมู่ที่ 4 ตำบลอบทม อำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทอง ซึ่งเป็นวิถีท้องถิ่นของชุมชนที่ทำกันมาอย่างยาวนาน เป็นรายได้ประจำไม่มากไม่น้อย โดยใช้เวลาว่างมาสร้างเป็นค่ากับข้าวช่วยเหลือครอบครัวอีกทาง ในช่วงเวลาทุกเช้าทางเจ้าของโรงงานจะนำแห้วใส่กระสอบมาส่งให้กับชาวบ้าน ที่มีอาชีพรับจ้างปอกแห้ว แล้วจะมาเก็บแห้วที่ปอกเสร็จแล้ว นำไปส่งลูกค้าในตลาดและส่งเข้าโรงงานแปรรูป ชาวบ้านที่ปอกแห้วส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ และแม่บ้านที่ต้องดูแลลูกหลาน ซึ่งใช้เวลาว่างในการสร้างอาชีพเสิมรายได้ พร้อมลูก หลาน ปู่ ย่า ตา ยาย นั่งล้อมวงพูดคุย และช่วยกันทำการปลอกแห้วกันอย่างมีความสุข ซึ่งแห้วเมื่อนำไปต้มแล้วรับประทานจะมีรสชาติหวานมันกรอบ นำไปทำทับทิมกรอบเป็นขนมไทยที่อร่อยมาก หรือจะนำไปแปรรูปเป็นแห้วกระป๋อง
จากการสอบถาม นางสาว จันทรวดี ศรีวิเชียร หรือกิ๊ก อายุ 37 ปี เล่าให้ฟังว่า ในทุก ๆ เช้า เจ้าของแห้วจะนำแห้วมาส่ง ทางชาวบ้านก็จะใช้น้ำล้าง เพื่อให้เศษดินที่ติดมากับแห้วหมดไป เมื่อสะอาดเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำแห้วมาตัดหัวและท้ายแล้วก็ปอกเปลือกแห้วออกจากเปลือกสีดำเป็นสีขาวสวยงาม แล้วก็ใส่ถังแช่น้ำไว้เพื่อรอทางเจ้าของมาเก็บแห้วในตอนเช้า และนำแห้วใหม่มาให้ปอกอีก ก็จะให้ชาวมีรายได้ทุกวัน ถึงไม่มากมากมายแต่ก็เป็นวิถีชาวบ้าน ที่ผู้สูงอายุ แม่บ้าน สร้างรายได้เสริมช่วยเหลือครอบครัว ซึ่งแห้วที่ปลอกเปลือกแห้วนำไปชั่งเป็นรายได้ ในราคากิโลกรัมละ 10 บาท แต่ละวันจะมีรายได้ 80 – 150 บาท พอเป็นค่ากับข้าว ส่วนเปลือกแห้วที่ปอกแล้วก็จะนำไปตากไว้ โดยจะมีเกษตรกรเลี้ยงแพะ เลี้ยงแกะมาซื้อ ในราคากระสอบละ 20 บาท เพื่อนำไปเป็นอาหารแพะและแกะ ส่วนที่เหลือก็จะนำไปเชื้อฟืนในการเผาถ่านต่อไป
กนกศักดิ์ / อ่างทอง