ที่อาคารศูนย์ประชุม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) ดร.สุธิภรณ์ ตรึกตรอง รักษาการแทนรองอธิการบดีวิทยาเขตตรัง คณะผู้บริหารม.อ. พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ ประเทศจีน นำโดยนายวิลเลี่ยม จาง ประธานธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิด PSU ICT TALENT DEVELOPMENT and INNOVATION CENTER หรือ ศูนย์พัฒนาทักษะด้านไอซีทีและนวัตรรมแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีนักเรียนนักศึกษา ประชาชนผู้สนใจร่วมพิธีคับคั่ง ซึ่งศูนย์ดังกล่าวก่อตั้งโดยความร่วมมือระหว่าง ม.อ. และ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ เพื่อให้บริการฝึกอบรมทักษะด้านเทคโนโลยีขั้นสูงแก่สถาบันการศึกษาในภาคใต้ของไทย รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน โดยศูนย์ฯจะมอบหลักสูตรการเรียนรู้ด้าน ICT และแพลตฟอร์มที่ครอบคลุมให้กับอาจารย์และนักศึกษาของ ม.อ. ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น 5G, Cloud, IoT และ Big Data ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาได้สัมผัสประสบการณ์จากโซลูชันจริง ประกอบด้วยห้องเรียนเทคโนโลยีเฉพาะทาง 6 ห้อง รวมถึงห้องเรียนด้าน Datacom , ปัญญาประดิษฐ์ (AI), ความปลอดภัยเครือข่าย, Cloud & AI, Server และระบบจัดการเครือข่ายรวมศูนย์ .
ทั้งนี้ ศูนย์ฯได้รับการติดตั้งอุปกรณ์จริง และมีหลักสูตรที่ผู้ผ่านการอบรมจะได้รับการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม เช่น HCSA-Presales-Service ซึ่งครอบคลุมความรู้พื้นฐานและนโยบายการขายเกี่ยวกับโซลูชันเครือข่าย การสนับสนุนการดำเนินงาน และการให้คำปรึกษาด้านอุตสาหกรรม และการบูรณาการแอปพลิเคชัน ผ่านผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้สอนหลักสูตร และนักศึกษาจะได้สัมผัสประสบการณ์ใช้งานอุปกรณ์จริงภายในศูนย์ ซึ่งจะส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์ พัฒนาความรู้ทางเทคโนโลยี และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลในอนาคต
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมแห่งนี้ มุ่งผลลัพธ์ที่จะสร้างกำลังคนในระดับแนวหน้าของโลกด้านไอซีที และเป็นหลักสูตรที่ล้ำสมัยที่สุดที่จะร่วมยกระดับสมรรถนะตลาดแรงงานด้านไอซีทีในเอเชียแปซิฟิก ผ่านหลักสูตรและการรับรองจากศูนย์แห่งนี้ ด้วยพันธกิจในการสร้างความเป็นผู้นำทางวิชาการ นวัตกรรม และสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีสมรรถนะ มหาวิทยาลัยจึงมีแผนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเตรียมนักศึกษาทั้งในสาขาเทคโนโลยีและสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น การพัฒนาหลักสูตรเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน การใช้เทคโนโลยีในกระบวนการเรียนการสอน รวมถึงการจัดอบรมและพัฒนาทักษะ เช่น การใช้ซอฟต์แวร์ ความร่วมมือระหว่าง ม.อ.กับภาคเอกชนและอุตสาหกรรมในการพัฒนาหลักสูตรและการฝึกงาน เพื่อให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์สูงสุดและนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในอนาคต “และเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา Webometrics Ranking of World Universities 2024 ได้ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยผ่านทางเว็บไซต์ www.webometrics.info ผลปรากฏว่า ม.อ.ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 1 ของภาคใต้ ในความสามารถการเป็นมหาวิทยาลัยอิเล็กทรอนิกส์ (E-university) ติดอันดับที่ 6 ของประเทศไทย และอันดับที่ 856 ของโลก ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการสร้างกำลังคนในระดับแนวหน้าของโลกด้านไอซีที คือ การสนับสนุนให้นักศึกษาเป็นบุคลากรที่มีทักษะสอดคล้องกับตลาดแรงงาน ผ่านการอบรมหลักสูตร ผ่านการฝึกฝนและใช้สิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย เพื่อสร้างโอกาสในอาชีพการงาน นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังมีแผนที่จะเปิดศูนย์นวัตกรรมแห่งนี้ให้กับนักศึกษาของสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ทั้งในภาคใต้และทั่วอาเซียน เพื่อให้นักศึกษาได้ประโยชน์และได้รับความรู้ที่ล้ำสมัยจากศูนย์นวัตกรรมแห่งนี้” ผศ.ดร.นิวัตน์ กล่าว และว่า สำหรับ มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาที่สนใจ สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://e.huawei.com/en/talent/ict-academy/#/home, Facebook.com/HuaweiICTAcademyTH หรือ ติดต่อมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ด้านนายวิลเลี่ยม จาง ประธานธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง ม.อ. และหัวเว่ย เป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล สำหรับมหาวิทยาลัย การนำโครงสร้างพื้นฐาน ICT ขั้นสูงและทรัพยากรต่าง ๆ มาใช้ในระบบการศึกษาของม.อ. จะทำให้ศูนย์นี้เป็นตัวอย่างในการแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีสามารถขับเคลื่อนนวัตกรรม ยกระดับการเรียนรู้ และเปลี่ยนแปลงสถาบันการศึกษา สำหรับอาจารย์และนักศึกษา นี่เป็นโอกาสในการเพิ่มทักษะและความสามารถทางดิจิทัล โดยการผสมผสานเทคโนโลยีอันล้ำสมัยเข้ากับหลักสูตร นักศึกษาจะสามารถเข้าถึงประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีความคล่องตัว และเหมาะสมกับความท้าทายในอนาคต .
นายวิลเลี่ยม กล่าวอีกว่า ความร่วมมือนี้ ยังเป็นการต่อยอดแพลตฟอร์มพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลของหัวเว่ยในอาเซียน (Huawei ASEAN Academy Thailand) ซึ่งได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทยกว่า 40 แห่ง เพื่อพัฒนาศูนย์กลางบุคลากรด้านดิจิทัลที่แข็งแกร่ง นอจากนี้หัวเว่ยยังได้นำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลอัจฉริยะสำหรับการศึกษา ซึ่งรวมถึง Virtual Reality ในห้องเรียน 5G, ศูนย์วิจัยอัจฉริยะ, เครือข่ายวิทยาเขตเจเนอเรชันใหม่ และเทคโนโลยี Wi-Fi 7 เพื่อเป็นแนวทางสำหรับสถาบันและองค์กรในการเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกของตนเอง.
“จนถึงปัจจุบัน หัวเว่ยได้ฝึกอบรมบุคลากรด้านดิจิทัลรวมทั้งสิ้น 96,200 คน ซึ่งรวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้าน ICT จำนวน 72,000 คน นักพัฒนา Cloud และ AI ขั้นสูง 8,000 คน วิศวกรด้านพลังงานสีเขียว 2,000 คน ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ 5,000 คน SME และสตาร์ทอัพ 3,500 คน พร้อมทั้งยังช่วยฝึกอบรมฟรีให้กับนักศึกษาและประชาชนในชนบท 6,000 คน”
ภาพ-ข่าว สุนิภา หนองตรุด จ.ตรัง