ที่ สนามช้างอินเตอร์เนชันแนลเซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ นายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธานจัดกิจกรรม แสงนำใจ ไทยทั้งชาติ เดิน วิ่ง ป้องกันอัมพาต ครั้งที่ 10 เฉลิมพระเกียรติ เพื่อแสดงถึงความจงรักภักดี เฉลิมพระเกียรติฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ที่ทรงเป็นดั่งแสงนำใจของประชาชนชาวไทย และทรงเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนชาวไทยในการรักษาสุขภาพและการออกกำลังกาย ตลอดจนรณรงเชิญชวนคนไทยทั้งประเทศให้มาออกกำลังกาย ภายใต้หัวข้อ “คนไทยสมองดี(HEALTHY THAIS, HEALTHY BRAINS)
ซึ่งการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง จะช่วยลดค่าใช้จ่ายการรักษาและลดภาระของปัญหาโรคเรื้อรัง โดยให้ประชาชนทั่วไป ทุกเพศ ทุกวัย และทุกหมู่เหล่า มีโอกาสออกกาลังกายอย่างง่าย ๆ เช่น การเดิน วิ่ง หรือปั่นจักรยาน ซึ่งถ้าทำเป็นประจำจะทำให้มีสุขภาพดีห่างไกลโรค และมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือ “คนรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนไทยไร้สโตรค”และในปีนี้ มี หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการเจ้าหน้าที่ผู้นำชุมชน ประชาชนทั่วไป เด็กและ ผู้สูงอายุ เกือบ 20,000 คน พร้อมใจกันสวมใส่เสื้อสีเหลือง เข้าร่วมกิจกรรมภายในสนามช้างอินเตอร์เนชันแนลเซอร์กิต เป็นสนามแข่งรถมาตรฐานสมาพันธ์รถยนต์นานาชาติ (FIA) ในประเทศไทย และ ไฮไลท์ ที่สุดของการวิ่ง คือ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ด้วย
นายแพทย์พิเชษฐ พืดขุนทด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า โครงการ เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต เฉลิมพระเกียรติ เป็นความร่วมมือระหว่าง ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยงานภาครัฐ 5 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตลอดจนพันธมิตรและภาคีเครือข่ายภาคเอกชน มอบหมายให้แต่ละจังหวัดมีการจัดงานเป็นประจำทุกปี
สำหรับโรคหลอดเลือดสมองนั้นเป็นหนึ่งในกลุ่มโรค NCDs หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมและการดำเนินชีวิต จนทำให้เกิดการสะสมของอาการและโรคตามมา และเมื่อเป็นก็จะมีอาการเรื้อรังรักษาให้หายได้ยาก โดย NCDs นั้นจัดว่าเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของโลกทั้งในมิติของจำนวนการเสียชีวิตและภาระโรคโดยรวม และผู้ที่เป็นโรค NCDs นั้นมักจะเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดกว่าร้อยละ 44 เลยทีเดียว ซึ่งในแต่ละปีพบผู้เสียชีวิตจากโรค NCDs ในกลุ่มอายุ 30-69 ปี หรือเรียกว่า “การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร” มากถึง 15 ล้านคน โดยมีคนไทยป่วยด้วยโรค NCDs ถึง 14 ล้านคน เสียชีวิตกว่า 300,000 คนต่อปี และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี ซึ่งส่วนใหญ่เสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี และผู้ที่ป่วยเป็นโรค NCDs จะเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองมากที่สุด ราวร้อยละ 11 สำหรับประเทศไทย ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับ 2 รองจากโรคมะเร็ง
จากข้อมูล Health Data Center ของกระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 1 สิงหาคม 2567) พบว่า คนไทยป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง 355,213 ราย เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่มีผู้ป่วย 350,934 ราย และจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีจำนวน 47,275 ราย เพิ่มขึ้นมากสุดในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563 – 2566) สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 1 สิงหาคม 2567) พบผู้เสียชีวิตแล้ว 35,116 ราย (เฉลี่ยวันละ 100 คน ) ซึ่งในกลุ่มอายุ 18 – 39 ปี มีจำนวนผู้ป่วยขยายตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด
การป้องกันภาวะหลอดเลือดออกในสมอง สำคัญที่สุด ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง ควรตรวจรักษาและควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ดีตลอด เพื่อลดโอกาสของการเกิดภาวะเลือดออกในสมอง และเมื่อมีอาการที่สงสัยโรคหลอดเลือดสมอง เช่น พูดลำบาก ปากตก แขนขาอ่อนแรง เดินเซที่เกิดขึ้นทันทีทันใด ให้ไป ไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพราะรู้อาการ ไปโรงพยาบาลเร็ว โอกาสรอดและปลอดอัมพาตก็จะสูงขึ้น”