Statistiche web
ชุมพร รพ.ชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ สร้างเกราะสำรวจบุคคลไร้สถานะที่ตกหล่นเข้าถึงสิทธิบริการรัฐด้วยการตรวจ ดี เอ็น เอ

ห้องประชุม โรงแรมลอฟต์ มาเนีย บูติค นพ.อนุ ทองแดง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชุมพร เป็นประธานเปิด “โครงการสำรวจบุคคลไร้สถานะ และตกหล่นทางทะเบียนให้มีสิทธิเข้าถึงบริการของรัฐ ด้วยการตรวจ ดีเอ็นเอ อ.เมืองชุมพร” โดยมี พญ.ปัทมาพันธ์ อนันตาพงศ์ ผอ.รพ.ชุมพร คณะแพทย์ตรวจ ดีเอ็นเอ มาเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น ในการทำหน้าคัดกรอง บุคคลไร้สถานะที่ตกหล่นทางทะเบียนราษฎร์ เพื่อให้เข้าถึงสิทธิ์ในการรักษาของภาครัฐ

พญ.ปัทมาพันธ์ อนันตาพงศ์ ผอ.รพ.ชุมพร กล่าวว่า ดิฉันได้เข้ามาบริหารงาน รพ.ชุมพรฯ เมื่อปี 2564 วันนั้น รพ.ชุมพรฯ มีภาระจากงบประมาณที่ติดลบสูงถึง 282.78 ล้านบาทและยังอยู่ในช่วงวิกฤตโควิด 19 ทำให้การพัฒนา รพ.ชุมพรฯ และการรักษาที่ให้บริการประชาชนในขณะนั้นมีข้อจำกัดหลายประการ จนกระทั่งในปี 2566 ก็พบว่าข้อมูลของ กลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ รพ.ชุมพรฯ ที่รวบรวมไว้พบว่า นับตั้งแต่ปี 2563 – 2566 พบว่าประเทศไทย มีบุคคลไร้สถานะที่ตกหล่นจากข้อมูลทะเบียนราษฎร์ทั่วประเทศสูงมากถึง 191 ราย ทำให้สิทธิ์ในการเข้าถึงสิทธิ์รักษาพยาบาลของภาครัฐต้องหายไป อีกทั้งยังก่อให้เกิดความสูญเสียงบประมาณของภาครัฐอีกกว่า 4.8 ล้านบาท

ข้อมูลล่าสุด ทาง รพ.ชุมพรฯ เราได้เปิดเป็น ศูนย์พิสูจน์เก็บตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม ดีเอ็นเอ ของ “สำนักงานเขตสุขภาพที่  11” ซึ่งประกอบด้วยสถานพยาบาลในพื้นที่จังหวัดชุมพร ระนอง พังงา สุราษฎร์ธานี กระบี่ ภูเก็ต และนครศรีธรรมราช และเราสามารถนำบุคคลในกลุ่มนี้เข้าระบบและรับรองได้แล้ว 11 คน และวันนี้จะตรวจต่อไปอีกให้ขึ้นทะเบียนให้ได้มากที่สุด    ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มบุคคลไร้สถานะฯ ดังกล่าว ไม่มีประวัติข้อมูลในทะเบียนราษฎร์ของภาครัฐในพื้นที่เนื่องจากไม่ได้ติดต่อและขาดการประสานกับฝ่ายทะเบียนในท้องที่ท้องถิ่นนานเกินไป จนทำให้กลายเป็นบุคคลไร้สถานะ ทำให้การเข้าถึงการรักษาพยาบาลจากหน่วยงานของรัฐบาลหายไป ทั้งๆที่บุคคลกลุ่มบุคคลกลุ่มนี้ ก็เป็นคนไทยโดยสมบูรณ์ แต่ขาดการประสานข้อมูลในทะเบียนราษฎร์เป็นเวลานานเกินไป    

ดังนั้น รพ.ชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จึงมีความต้องการที่จะคืนสิทธิให้กับบุคคลที่เป็นคนไทยกลุ่มดังกล่าว จึงได้จัดทำ “โครงการสำรวจบุคคลไร้สถานะ และตกหล่นทางทะเบียนให้มีสิทธิเข้าถึงบริการของรัฐ ด้วยการตรวจ ดีเอ็นเอ อ.เมืองชุมพร” นี้ขึ้น ก็เพื่อสร้างความเข้าใจให้บุคคลากรในท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนทุกที่ทุกฝ่าย ได้มีความเข้าใจถึงกระบวนการคืนสิทธิคืนสถานะให้กับบุคคลที่ตกหล่นในพื้นที่ ให้มีความเข้าใจในกระบวนการตรวสอบสิทธิ์ การตรวจ ดีเอ็นเอ เพื่อจัดทำข้อมูลส่งต่อท้องที่-ท้องถิ่น และส่งต่อบุคคลให้เข้าถึงสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงให้ราษฎร์คนไทยต่อไปโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น//ประสิทธิ์ ลีฬหคุณกร/ชุมพร

Share This