ตัวแทนผู้เสียหายกว่า 200 ราย เดินทางมาจากหลายจังหวัดทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นพนักงานบริษัท ธุรกิจส่วนตัว ผู้บริหาร และข้าราชการ รวมตัวเข้าร้องทุกข์ต่อ นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี อ้างว่า ถูกบริษัทแห่งหนึ่งในจ.ปทุมธานี ติดต่อมายื่นข้อเสนอช่วยปิดหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล บ้าน และรถยนต์ที่ผ่อนอยู่ โดยการรวมยอดหนี้ปิดให้ทีเดียว แต่ต้องร่วมโครงการกู้ซื้อคอนโดฯ กับบริษัทในการยื่นกู้ธนาคารเพื่อซื้อคอนโดมิเนียม จะได้มาผ่อนรายเดือนกับบริษัท และผ่อนคอนโดฯ หากกู้ซื้อ 3 ห้อง ผู้เสียหายจะผ่อนแค่ห้องเดียว อีก 2 ห้องบริษัทจะเป็นคนจ่าย เมื่อครบสัญญาจะซื้อคืน เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อกลับต้องเป็นหนี้ธนาคารมีชื่อในการกู้ซื้อคอนโดฯ กันคนละ 3-5 ห้อง ทั้งที่บางคนเงินเดือนแค่ 2-3 หมื่น แต่กลับต้องเป็นหนี้หลายล้าน มากสุดถึง 25 ล้าน สุดท้ายบริษัทปิดตัวหนีหายติดต่อไม่ได้ หลายคนเครียดจัดจนคิดฆ่าตัวตาย เพราะถูกธนาคารทวงหนี้ ฟ้องยึดทรัพย์บังคับคดี ความเสียหายนับพันล้าน ข้อมูลขณะนี้มีผู้เสียหาย 200 กว่าราย แต่ที่สรุปข้อมูลเป็นทางการ 103 ราย กู้ซื้อคอนโดมิเนียม/ห้องชุด 414 ห้อง กู้ซื้อกับ 8 ธนาคาร ปัจจุบันบริษัทไม่จ่ายเงินค่าผ่อนซื้อ ผู้เสียหาย 103 คน จึงเป็นหนี้ 1,470 ล้านบาท รายละเอียดตามตารางแนบ
น.ส.เอ (นามสมมุติ) อายุ 31 ปี พนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เสียหาย กล่าวว่า ตนมีเงินเดือน 4 หมื่นกว่า และมีหนี้สินจากบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ประมาณ 900,000 บาท และที่ต้องจ่ายต่อเดือนมากกว่าเงินเดือนมาก ช่วงปี 2566 จู่ๆ ได้มีโทรศัพท์เข้ามาแจ้งว่าเป็นบริษัทแห่งหนึ่ง และสอบถามว่าเรามีหนี้บัตรเครดิต และหนี้ผ่อนบ้าน ผ่อนรถใช่หรือไม่ ซึ่งตนเองเองก็ไม่ทราบว่าบริษัทแห่งนี้รู้ข้อมูลส่วนตัว และเขาก็มีข้อเสนอจะให้รวมหนี้ทั้งหมดและปิดหนี้ให้ โดยให้มาผ่อนกับบริษัทรายเดือนที่เดียวเพื่อจะได้ผ่อนสบายๆ ซึ่งตนก็สนใจเดินทางไปที่บริษัทซึ่งตั้งอยู่ย่านคูคต จ.ปทุมธานี ลักษณะเป็นตึกแถว 2 คูหา เข้าไปมีพนักงานเข้ามาต้อนรับและแนะนำต่างๆ แจ้งว่าจะปิดหนี้ให้ทั้งหมด และแนะนำชักชวนให้เป็นผู้ร่วมลงทุนซื้อขายคอนโดมิเนียมในระยะเวลา 2-5 ปี จนเสร็จสิ้นโครงการ
หลังตกลงใจให้บริษัทปิดหนี้ ทางบริษัทได้พาไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่สภ.คูคต โดยระบุว่าบริษัทได้มอบเงินให้ไปปิดหนี้ทั้งหมด และสัญญาจะร่วมกับบริษัทจนเสร็จสิ้นโครงการ จากนั้นบริษัทก็ปิดหนี้ 900,000 บาทให้จริง โดยทำสัญญาผ่อนจ่ายรายเดือน และห้ามให้ตนกู้เงินอะไรอีกเพราะต้องการให้เครดิตบูโรไม่มีหนี้สิน หลังจากนั้นประมาณ 6 เดือนเมื่อเครดิตดีบริษัทให้เซ็นเอกสารกู้ซื้อคอนโดฯ โดยให้เซ็นไว้หลายชุด โดยบริษัทอ้างว่าจะยื่นกู้ซื้อคอนโดฯ 5-7 แบงก์ในช่วงเวลาเดียวกัน ตอนแรกก็เข้าใจว่าซื้อคอนโดฯ ห้องเดียว ซึ่งมารู้ที่หลังบริษัทแจ้งว่ากู้ซื้อคอนโดฯ ผ่านถึง 5 ห้อง ราคาห้องละ 2-5 ล้าน ตนต้องเป็นหนี้ถึง 16 ล้านบาท ซึ่งบริษัทได้บังคับให้ทำประกันชีวิตเพื่อค้ำประกันยอดหนี้กับธนาคารด้วย โดยจำนวนเงินที่จ่ายค่าประกันก็มารวมกับยอดหนี้ที่ตนมาเป็นหนี้กับบริษัทที่ต้องผ่อนรายเดือนด้วย
บริษัทได้ทำสัญญาว่าให้ตนผ่อนคอนโดฯ 1 ห้อง ส่วนอีก 4 ห้องทางบริษัทจะเป็นคนผ่อนกับธนาคาร เมื่อครบสัญญา 5 ปี บริษัทจะซื้อคืน ส่วนเงินที่ผ่อนคอนโดฯ ของตนก็จะไปหักกับยอดหนี้ทางบริษัท ผ่านมา 1 ปี เมื่อวันที่ 25 พ.ย.67 จู่ๆ ธนาคารก็โทรมาทวงถามเพราะค่างวดเพราะบริษัทไม่จ่าย ตนจึงรู้ว่าถูกหลอกแล้ว และต้องเป็ฯหนี้ถึง 16 ล้านบาท ไม่รู้จะทำอย่างไร เครียดจัดจนกินไม่ได้นินไม่หลับต้องพบหมอจิตแพทย์ และจะผูกคอตายหนีปัญหา แต่ได้ลองโทรมาขอความช่วยเหลือกับมูลนิธิปวีณาฯ ได้พูดคุยกับนางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิฯ จึงเริ่มจะมีความหวังที่จะลุกขึ้นสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม
หลังรับเรื่อง นางปวีณา กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก และเห็นใจผู้เสียหายทุกคนที่ถูกหลอกจนเป็นหนี้มหาศาล จากข้อมูลที่ได้รับจากผู้เสียหายที่ถูกหลอกสาเหตุจากที่หลายตนต้องผ่อนหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล หนีบ้าน หนี้รถยนต์ ทำให้อยากลดภาระใรการจ่ายรายเดือนลง เมื่อมีบริษัทเข้ามายื่นข้อเสนอจึงหลงเชื่อกลับกลางต้องเป็นหนี้กับคนละนับสิบล้านบาท ทั้งนี้ตั้งข้อสังเกตว่าการกระทำแบบนี้ต้องทำเป็ฯขบวนการ ทั้งบริษัทนายหน้าที่ชักชวนปิดหนี้ให้ และโครงการคอนโดฯ ที่กู้ซื้อ เพราะทุกอย่างมีการวางระบบยื่นกู้ง่าย ธนาคารปล่อยสินเชื่อกู้ซื้อคอนโดฯ ง่าย คอนโดฯ บางแห่งกู้ได้มากว่าราคาประเมิน
จึงอยากฝากถึงผู้บริหารธนาคารต่างๆ ช่วยตรวจสอบเรื่องนี้ และเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่ออะไรง่ายๆ เพราะอาจตกเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว อยู่ดีๆ มีหนี้นับสิบล้าน จากที่เคยคิดจะปิดหนี้กลับมาต้องเป็นหนี้สินนับสิบล้าน ถูกฟ้องร้อง บังคับคดี ยึดทรัพย์ ทุกหนักกว่าเดิม โดยนางปวีณา จะประชุมหารือเพื่อพาผู้เสียหายเดินทางไปแจ้งความกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองปราบปราม หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)
ภาพ-ข่าว THAIREFERENCE