ก่อนเทศกาลตรุษจีน กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ผู้ปลูกหัวไชเท้า พากันยิ้มออก เนื่องจากปีนี้ สภาพอากาศดี หนาวนาน ทำให้ได้ผลผลิตดีกว่าทุกปี จึงได้เร่งเก็บผลผลิตหัวไชเท้า ส่งสู่ตลาดเฉลี่ย วันละ 80-100 ตัน ต่อวัน สร้างรายได้เป็นอย่างดี และกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด ก่อนถึงเทศกาลตรุษจีน ทำให้ต้องเพิ่มแรงงาน เร่งเก็บผลผลิตให้ทันต่อความต้องการของตลาด
ซึ่งกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ผู้ปลูกหัวไชเท้า ในพื้นที่ ตำบลโคกตูม จังหวัดลพบุรี รวมกว่า 10 หมู่บ้าน ซึ่งหันมาสร้างรายได้เพิ่ม หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชไร่ (ข้าวโพด) ปรับเปลี่ยนพื้นที่ว่างหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ของแต่ละหมู่บ้าน รวมกว่า 500 ไร่ มาปลูก “หัวไชเท้า” หรือหัวผักกาด พืชระยะสั้น ซึ่งใช้ระยะเวลาการเพาะปลูก เพียง 45-50 วัน ก็สามารถจะเก็บผลผลิตสู่ตลาดสร้างรายได้ ซึ่งเกษตรกรจะวางแผนการเพาะปลูก เพื่อให้ผลผลิตออกทันจำหน่ายก่อนถึงเทศกาลตรุษจีน ในแต่ละปี ซึ่งหัวไชเท้าในพื้นที่แห่งนี้ จะถูกไปขายยังตลาดไทย และตลาด 4 มุ่มเมือง
เนื่องจากพื้นที่ตำบลโคกตูม ถือเป็นแหล่งเพาะปลูกหัวไชเท้าแหล่งใหญ่ ในลำดับต้นๆ ของประเทศ ทำให้ทุกแปลงปลูกต้องเพิ่มคนงาน เร่งเก็บผลผลิตส่งสู่ตลาด ส่งผลให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่ เนื่องจากขณะนี้ หัวไชเท้ากำลังเป็นที่ต้องการของตลาด โดยแต่ละวันจะมีหัวไชเท้าในพื้นที่ ส่งออกสู่ตลาด เฉลี่ย วันละ 80 – 100 ตันต่อวัน ซึ่งต่างจากช่วงเวลาปกติ ที่ไม่ตรงกับเทศกาลตรุษจีน จะมีผลผลิตออกสู่ตลาด เพียงวันละ 30 ตันต่อวัน เท่านั้น
สำหรับขั้นตอนการคัด “หัวไชเท้า” หากมีหัวที่ใหญ่และสวยจะถูกแพ็ค จะบรรจุในถุงละ 10 กิโลกรัม โดยมีราคาเฉลี่ย 100 – 120 บาท (ราคาส่ง) ต่อถุง แล้วแต่ช่วงเวลา โดยเฉพาะช่วงเทศกาลก็จะมีราคาดีขึ้นมาก แต่ถ้าหัวไชเท้าที่มีขนาดเล็กไม่สวยจะนำส่งเข้าโรงงานแปรรูป เป็น “หัวไชเท้าดอง” โดยราคาเข้าโรงงานจะได้กิโลกรัมละ 3-5 บาท ภายในหนึ่งปีเกษตรกรจะสามารถปลูกหัวไชเท้าได้ 1-2 ครั้ง แล้วแต่จำนวนปริมาณน้ำที่มี และสภาพอากาศ เพราะหัวไชเท้าจะไม่สามารถปลูกได้ในช่วงที่สภาพอากาศร้อนจัด หรือมีฝนตกมากเกินไป
นายมานัส สุขเจริญ ซึ่งเป็นหนึ่ง ในเกษตรกรผู้ปลูกหัวไชเท้า ในพื้นที่ หมู่ 7 ตำบลโคกตูม อ.เมือง จ.ลพบุรี และเป็นประธานกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ บอกว่า เกษตรกรผู้ปลูกหัวไชเท้า ในพื้นที่ส่วนใหญ่ หลังจากที่เกษตรกร เก็บเกี่ยวผลผลิต ข้าวโพด ไปแล้ว ในช่วงปลายฝนต้นหนาว ส่วนใหญ่ก็จะหันมาปลูกหัวไชเท้า เพื่อไม่ให้พื้นที่ว่างเปล่า โดยมีสมาชิกในกลุ่ม 18 ราย มีพื้นที่เพาะปลูกร่วมกัน กว่า 500 ไร่ ถือเป็นการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากผลผลิตของหัวไชเท้าที่ได้ในแต่ละปี ส่วนใหญ่จะเน้นให้ผลผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงเทศกาลตรุษจีน เนื่องจากมีราคาดี และเป็นที่ต้องการของตลาด ประกอบกับปีนี้ อากาศหนาวนาน ทำให้ได้ผลผลิตดีกว่าทุกปี
ภาพ-ข่าว สมชาย เกตุฉาย จ.ลพบุรี รายงาน