Statistiche web
อัยการ สคช.พิจิตร รับเรื่องช่วยชาวนาเกือบ 50 ราย ขายข้าวไม่ได้เงินส่อเค้าถูกฉ้อโกง

นายพงษ์พันธ์ ยอดจันทร์  อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดพิจิตร และ นาย ประเสริฐ ใจสนธิ์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สนง.อัยการคุ้มครองสิทธิ และช่วยเหลือทางกฎหมายฯ จังหวัดพิจิตร  ร่วมกันรับเรื่องราวร้องทุกข์จากชาวนาที่เดินทางมาจาก อ.สากเหล็ก จ.พิจิตร ที่มีความทุกข์ความเดือดร้อนจากกรณีที่เมื่อช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 67 ที่ชาวนากลุ่มนี้เก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้วนำไปขายให้กับท่าข้าวแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.ท่าเยี่ยม อ.สากเหล็ก โดยผู้รับซื้อได้ให้แค่เพียงใบชั่งรับสินค้า หรือที่เรียกว่าตั๋วชั่งน้ำหนักที่ระบุปริมาณข้าวและราคาที่รับซื้อ จากนั้นก็จะนัดให้มารับเงินแต่ปรากฏว่าเมื่อถึงวันนัดชำระค่าข้าวเปลือก ผู้ประกอบการรับซื้อข้าวที่ท่าข้าวแห่งนี้กลับชำระเงินแค่เพียงบางส่วนและมีบางรายก็ยังไม่ได้รับเงินเลยแม้แต่บาทเดียวก็มี

ชาวนากลุ่มดังกล่าวนี้ต่างไปทวงถาม บางคนก็ได้เงินครั้งละเล็กละน้อย และต่อมาก็ติดต่อผู้ซื้อข้าวเปลือกที่ท่าข้าวแห่งนี้ไม่ได้ รวมถึงเจ้าหนี้ของชาวนาที่เคยให้เครดิตค่ารถเกี่ยว ค่าปุ๋ย ค่ายาสารเคมี ที่ใช้ในการทำนา รวมถึงต้องส่งเงินกู้กับ ธกส.ต่างก็เร่งรัดชาวนาให้ไปชำระหนี้ ชาวนากลุ่มนี้ใช้เวลาทวงถามมานานกว่า 2 เดือนแล้ว ไม่ได้เงินเสียทีจึงมีการรวมตัวกันได้ประมาณ 50 ราย  วงเงินความเสียหายในเบื้องต้นกว่า 10 ล้านบาท ในวันนี้ตัวแทนชาวนาจำนวนเกือบ 20 คน จึงได้รวมตัวกันมาร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือด้านกฎหมายจากสำนักงานอัยการ สคช.พิจิตร ซึ่งในเบื้องต้น นายพงษ์พันธ์ ยอดจันทร์  อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดพิจิตร ได้รับเรื่องและมอบให้ และ นาย ประเสริฐ ใจสนธิ์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สนง.อัยการคุ้มครองสิทธิ และช่วยเหลือทางกฎหมายฯ จังหวัดพิจิตร  เป็นเจ้าของเรื่องในการให้คำแนะนำทางกฎหมายเพื่อจะได้เรียกเจ้าของท่าข้าวหรือผู้รับซื้อให้มาเจรจาไกล่เกลี่ยชำระหนี้ตามขั้นตอนก่อน ในส่วนของชาวนาก็จะไปแจ้งความที่ สภ.สากเหล็ก เพื่อแจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาต่อไป

ในส่วนของชาวนารายหนึ่ง คือ น.ส.อัมรินทร์ (ขอสงวนนามสกุล) ชาวนาหมู่ 4 ต.ท่าเยี่ยม อ.สากเหล็ก ทำนา 20 ไร่ ได้ข้าว 15 ตัน  ซึ่งเป็นข้าวเกี่ยวสดท่าข้าวตีราคาให้ตันละ 9,000 บาท  ซึ่งได้ราคาสูงกว่าโรงสีหรือท่าข้าวข้างเคียง 200-300 บาท ตนจึงตัดสินใจขายข้าวเปลือกนาปีให้ โดยผู้ซื้อมาเอาข้าวที่กลางนาของตนไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 67 รวมเงิน 140,398 บาท แต่ผู้ซื้อให้เงินมาเพียง 67,000 บาท  ไปทวงถามหลายครั้ง ก็ผลัดผ่อนมาโดยตลอด จึงคิดว่าถ้าไม่ร้องทุกข์ ไม่แจ้งความ ก็อาจจะสูญเงินจากการขายข้าวที่มาจากหยาดเหงื่อแรงกายจึงได้ตัดสินใจมาขอคำปรึกษา มาขอความช่วยเหลือทางกฎหมายจาก สนง.อัยการ สคช.พิจิตร ซึ่งได้รับคำตอบเป็นที่น่าพอใจและจะดำเนินการตามขั้นตอนที่ อัยการ สคช.พิจิตร แนะนำดังกล่าวนั่นเอง

ภาพ-ข่าว สิทธิพจน์/พิจิตร/

Share This