กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและยั่งยืน ผ่านกิจกรรมสร้าง Soft Power ผลิตภัณฑ์ชุมชน DBD SMART Local มุ่งส่งเสริมทักษะการค้าให้ผู้ประกอบการชุมชน เพื่อพัฒนาบ่มเพาะไปสู่การเป็นผู้ประกอบการชุมชนมีดี (SMART Local Me-D) ชู 3 อัตลักษณ์เด่น จาก 3 ภูมิภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ นำร่องครั้งแรกใน 3 จังหวัด ได้แก่ พะเยา มหาสารคาม และนครศรีธรรมราช ด้วยเส้นทางตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชนภายใต้ชื่อ “พะ-มหา-นคร” พร้อมนำทีมสื่อมวลชน และ Influencer ร่วมลงพื้นที่สร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์ชุมชนไทยภาพลักษณ์ใหม่ ผ่านเรื่องราวความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชนที่มีเสน่ห์แตกต่างกัน ให้เป็นที่รู้จักและเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ประเดิมที่แรก “พะเยา มีดี” เส้นทางตลาดที่ร้อยเรียงเรื่องราวผ่านสายน้ำมาเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่สะท้อนเมืองแห่งความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติได้อย่างลงตัว ความมีดีของตลาดเศรษฐกิจฐานรากในจังหวัดพะเยา จุดขายสร้างรายได้ สร้างความอยู่ดี กินดี ให้แก่คนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า พร้อมขับเคลื่อนการเติบโตให้ตลาดเศรษฐกิจฐานราก โดยมุ่งส่งเสริมพัฒนาศักยภาพด้านการตลาดของผู้ประกอบการชุมชน พร้อมยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมถึงการเพิ่มโอกาสทางการค้าและขยายช่องทางการตลาดให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลาย ภายใต้แนวคิด SMART Local หลักการพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน ชูอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานกับนวัตกรรม เชิงสร้างสรรค์ เพื่อสร้างจุดเด่นและความแตกต่าง สู่ภาพลักษณ์ Soft Power ผลิตภัณฑ์ชุมชนไทยที่ยั่งยืน โดยจัดกิจกรรม ‘เส้นทางตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน’ ภายใต้โครงการ ‘กิจกรรมสร้าง Soft Power ผลิตภัณฑ์ชุมชน DBD SMART Local’ โดยออกแบบเส้นทางตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ส่งเสริมภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ชุมชนในแต่ละพื้นที่จำนวน 3 เส้นทาง เส้นทางแรกคือ “พะเยา มีดี” เส้นทางที่ 2 “มหาสารคาม มีดี” และ เส้นทางที่ 3 “นครศรีธรรมราช มีดี”
สำหรับกิจกรรมเส้นทางตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชนเส้นทางแรก “พะเยา มีดี” เป็นการนำเสนอภูมิปัญญาท้องถิ่นของ “วิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมล้านนาสันปูเลย” ตำบลสันป้าม่วง อำเภอเมืองพะเยา ด้วยการนำไม้ไผ่และผักตบชวาในกว๊านพะเยา มาถักสานเป็นตะกร้าและกระเป๋าถือ เป็นการพัฒนาต่อยอดในการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติมาช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนได้อย่างมีคุณค่า นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม Workshop เรียนรู้การสานปลาจากผักตบชวา ตามมาด้วยผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมชิโบริอันสวยงามจาก “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผ้ามัดย้อมชิโบริสีธรรมชาติแม่อิง” ตำบลแม่อิง อำเภอภูกามยาว ชมผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติที่ผสมผสานเทคนิคการสร้างลวดลายผ้าแบบญี่ปุ่นเข้ากับภูมิปัญญาย้อมผ้าของล้านนา และเพ้นท์ผ้าลายน้ำไหล ต่อด้วยแวะชมผลิตภัณฑ์ข้าวก่ำล้านนาที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ณ “วิสาหกิจชุมชนไบโอแบล็ค” ตำบลพระธาตุขิงแกง อำเภอจุน พร้อมลิ้มรสเมนูพื้นเมืองจากข้าวก่ำล้านนา เยี่ยมชมแปลงนาข้าวก่ำ เรียนรู้วิถีเกษตรอินทรีย์
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารูปแบบการจัดกิจกรรมเส้นทางตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชนดังกล่าว จะสามารถเสริมสร้างศักยภาพทักษะการค้าให้แก่ผู้ประกอบการชุมชน ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับไปสู่การเป็นธุรกิจชุมชนที่เข้มแข็ง และสามารถขยายช่องทางการตลาดแบบเดิมให้เติบโตอย่างมั่นคง พร้อมเชื่อมโยงไปยังช่องทางการตลาดแบบใหม่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นําไปสู่เสถียรภาพของเศรษฐกิจฐานรากที่เข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืนต่อไป
ภาพ-ข่าว ปัณณวิชญ์ อยู่ดี จ.พะเยา