Statistiche web
นครราชสีมา เปิดโลกแฟชั่น อาชีวะไทยผลิตดีไซเนอร์รุ่นใหม่ สู่เวทีระดับโลก

ในยุคที่แฟชั่นและการแต่งกายกลายเป็นส่วนสำคัญของการแสดงออกทางตัวตนและวัฒนธรรม การศึกษาด้านเทคโนโลยีแฟชั่นและเครื่องแต่งกายกำลังได้รับความสนใจอย่างมาก นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรในสาขานี้ จึงได้เปิดการเรียนการสอนสาขาวิชาเทคโนโลยีแฟชั่นและเครื่องแต่งกายในสถานศึกษาทั่วประเทศ ภายใต้ศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (Center Of Vocational Manpower Networking Management : CVM)

ปัจจุบัน มีสถานศึกษาอาชีวศึกษาที่เปิดสอนสาขาวิชานี้ถึง 46 แห่งทั่วประเทศ ครอบคลุมทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยมีทั้งหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาวิชาเทคโนโลยีแฟชั่นและสิ่งทอ และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาวิชาเทคโนโลยีแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย ซึ่งมุ่งเน้นการผลิตบุคลากรที่มีความรู้และทักษะในด้านเทคโนโลยีแฟชั่นและสิ่งทอ โดยผู้เรียนจะได้เรียนรู้หลักการและกระบวนการทำงานด้านการออกแบบแฟชั่นแพทเทิร์นเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย สามารถประยุกต์ใช้ความรู้และเทคโนโลยีด้านการออกแบบแฟชั่น แพทเทิร์นเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย รวมทั้งสามารถปฏิบัติงาน สร้างสรรค์และวิเคราะห์ปัญหา ด้านการออกแบบแฟชั่น แพทเทิร์นเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายได้ โดยมีรายวิชาที่น่าสนใจ เช่น ความรู้เรื่องสิ่งทอ การออกแบบเสื้อผ้า เทคนิคการตัดเย็บ ตกแต่ง และการออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอ การออกแบบการจัดแสดงแฟชั่น คอมพิวเตอร์เพื่องานออกแบบแฟชั่น เป็นต้น ซึ่งการพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัยและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล การส่งเสริมให้ครูผู้สอนได้พัฒนาทักษะและประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ล้วนเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ศูนย์ CVM นำมาใช้เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาในสาขาวิชานี้

ปัจจุบันมีนักเรียน นักศึกษาที่กำลังศึกษาในสาขาวิชานี้ทั่วประเทศรวมกว่า 1,400 คน ซึ่งนับว่าเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่นของไทยในอนาคต ผู้สำเร็จการศึกษาจากสาขานี้สามารถประกอบอาชีพได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์หรือนักออกแบบแฟชั่น(Fashion designer) นักวิเคราะห์เทรนด์แฟชั่น นักวาดภาพประกอบแฟชั่น นักออกแบบลายผ้า สไตลิสต์ ช่างแพทเทิร์น นายแบบ นางแบบ แฟชั่นมาร์เกตติ้ง Make-up artist หรือแม้แต่การเป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเองนอกจากความหลากหลายของอาชีพแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดให้หลายคนสนใจวงการแฟชั่นคือโอกาสในการสร้างรายได้ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่แฟชั่นกลายเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์และมีการแข่งขันสูง ทำให้ผู้ที่มีความสามารถและความคิดสร้างสรรค์สามารถสร้างรายได้ได้อย่างมหาศาล อย่างแฟชั่นดีไซเนอร์ นักออกแบบแฟชั่นชื่อดังระดับโลกหลายคนมีรายได้สูงถึงหลักล้านดอลลาร์ต่อปี นอกจากค่าตอบแทนจากการออกแบบคอลเลกชั่นแล้ว ยังมีรายได้จากการร่วมงานกับแบรนด์ดัง การออกแบบชุดให้กับดารา หรือการเปิดแบรนด์ของตัวเอง สไตลิสต์ชื่อดังก็มีรายได้สูงเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสไตลิสต์ที่ทำงานให้กับดาราหรือเซเลบริตี้ชื่อดังแฟชั่นมาร์เกตติ้ง หรือนักการตลาดด้านแฟชั่นที่มีความรู้ความสามารถในการสร้างแบรนด์และทำการตลาดออนไลน์ ก็มีโอกาสได้รับค่าตอบแทนที่สูงเช่นกัน เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า การเป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากแบรนด์ได้รับความนิยมและสามารถขยายธุรกิจได้

นางสุดาทิพย์ เดชมะเริง ครูหัวหน้าแผนกวิชาแฟชั่นและสิ่งทอ วิทยาลัยอาชีวศึกษานครราชสีมา กล่าวว่า “เรามุ่งเน้นการผลิตบุคลากรที่มีทั้งความคิดสร้างสรรค์และทักษะทางเทคนิค เพื่อให้สามารถทำงานได้จริงในอุตสาหกรรมแฟชั่น นักศึกษาของเราหลายคนได้รับรางวัลจากการประกวดออกแบบระดับประเทศ และบางคนได้มีโอกาสไปฝึกงานกับแบรนด์ดังในต่างประเทศด้วย”         

วิทยาลัยอาชีวศึกษานครราชสีมา ในนามศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (Center of Vocational Manpower Networking Management : CVM) สาขาวิชาเทคโนโลยีแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย ได้ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาผู้เรียน ผู้สอน และวิชาชีพ ด้วยการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้บุคลากรของสาขาวิชาได้พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนการเข้าร่วมโครงการประกวดในเวทีระดับประเทศ รวมทั้งได้รับรางวัลมากมาย เช่น ชุดอสรพิษ ได้รับรางวัลชนะเลิศ โครงการประกวดออกแบบและตัดเย็บผ้าไหม The Next Big Silk Designer Contest 2022 ชุด Siam raptor ได้รางวัลชนะเลิศ โครงการประกวดออกแบบและตัดเย็บผ้าไหม The Next Big Silk Designer Contest จัดโดย กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับสมาคมส่งเสริมผ้าไหมและวัฒนธรรมไทย โครงการ SACIT AWARD “ผ้าไทยใส่ได้ทุก Gen” จัดโดยสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย(องค์การมหาชน) ประกวดออกแบบตัดเย็บ “ชุดผ้าไทยใส่ให้สนุก” จัดโดย กรมการพัฒนาชุมชนกระทรวงมหาดไทย

นอกจากการผลิตบุคลากรเข้าสู่วงการแฟชั่นแล้ว ศูนย์ CVM ยังมีเป้าหมายในการพัฒนาสถานศึกษาให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านแฟชั่นและสิ่งทอ โดยส่งเสริมความร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้การเรียนการสอนสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานอย่างแท้จริง ในอนาคต ศูนย์ CVM มีแผนที่จะพัฒนาสถานศึกษาอาชีวศึกษาให้เป็นศูนย์พัฒนาอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ รวมถึงเป็นศูนย์ประเมินสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพในสาขาแฟชั่นและสิ่งทอ ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ทั้งนักศึกษา ผู้ประกอบอาชีพ และประชาชนทั่วไปได้พัฒนาทักษะและได้รับการรับรองมาตรฐานวิชาชีพ การพัฒนาการศึกษาด้านเทคโนโลยีแฟชั่นและเครื่องแต่งกายของไทยกำลังก้าวไกลและมีทิศทางที่สดใส ด้วยความมุ่งมั่นของศูนย์ CVM และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เราอาจได้เห็นดีไซเนอร์ไทยรุ่นใหม่ก้าวสู่เวทีแฟชั่นระดับโลกในอนาคตอันใกล้นี้

@chaijexu

นครราชสีมา เปิดโลกแฟชั่น อาชีวะไทยผลิตดีไซเนอร์รุ่นใหม่ สู่เวทีระดับโลก

♬ เสียงต้นฉบับ - Chaij Exu - Chaij Exu

ภาพ-ข่าว ณรงค์ศักดิ์ น้ำจันทร์  รายงาน

Share This