การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จัดโครงการ รวมใจภักดิ์ หลอมรักษ์ สืบสานการพัฒนาที่ยั่งยืน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบฯ ณ ศูนย์วิจัยยางหนองคายและสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดหนองคาย โดยมี นายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) เป็นประธานเปิดโครงการ น้อมนำศาสตร์พระราชา ‘สวนยางอารยเกษตร’มุ่งจัดการสวนยางแบบเกษตรผสมผสานสู่ความยั่งยืน พร้อมชูนวัตกรรมยางลดต้นทุน-เพิ่มรายได้ชาวสวนยาง ควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
โดยนายเอกภาพ เผยว่า เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 นับเป็นมหามงคลสมัยพิเศษยิ่งที่รัฐบาลจะดำเนินการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ เพื่อให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนและทุกภาคส่วน ได้ร่วมแสดงออกถึงความจงรักภักดีและความสำนึก ในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กยท. เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางรับผิดชอบการบริหารจัดการยางพาราของประเทศทั้งระบบครบวงจร
จึงจัดทำโครงการ รวมใจภักดิ์ หลอมรักษ์ สืบสานการพัฒนาที่ยั่งยืน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ซึ่งเป็น 1 ใน 19 โครงการ ที่หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการจัดขึ้นตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการบูรณาการความร่วมมือของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการฯ ประกอบด้วยการปลูกต้นไม้ที่มีความสำคัญยิ่ง ทั้งต้นรวงผึ้ง (ต้นไม้ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ) เนื่องด้วยดอกรวงผึ้งมีสีเหลือง เป็นสีประจำวันพระราชสมภพ และปลูกต้นไม้ประจำจังหวัด 77 จังหวัด เป็นรูปแผนที่ประเทศไทย เพื่อแสดงสัญลักษณ์ของการหลอมรวมความเป็นหนึ่งเดียวกัน ความสามัคคีกลมเกลียวของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ เป็นการแสดงออกซึ่งความจงรักภักดี
ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย กล่าว่า ภายในงานวันนี้ได้มีมอบพันธุ์ยางชำถุง พันธุ์ RRIT 3904 จำนวน 904 ต้น ให้กับผู้นำเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ พร้อมมอบโฉนดต้นยางพาราให้กับเกษตรกร จำนวน 20 ราย เป็นครั้งแรก ซึ่งโฉนดต้นยางพารา จะสามารถระบุผู้ครอบครองต้นยางและที่ตั้งของต้นยางแต่ละต้น จำนวนพื้นที่ปลูก เปรียบเหมือนเอกสารสิทธิ์ความเป็นเจ้าของต้นยางต้นนั้น เกษตรกรที่ได้รับโฉนดต้นยางสามารถนำไปเป็นหลักประกันสินเชื่อเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพและเพิ่มรายได้จากการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตได้ รวมถึงได้สิทธิ์ในการรับความช่วยเหลือจากมาตรการของภาครัฐ ทั้งนี้ ข้อมูลต้นยางที่ได้จากการออกโฉนดต้นยางสามารถนำมาวิเคราะห์คาดการณ์ปริมาณยางที่จะออกสู่ตลาดในแต่ละช่วงเวลา เพื่อใช้วางแผนบริหารจัดการได้
“โฉนดต้นยางมีความแตกต่างจากโฉนดที่ดิน เพราะจะมีการระบุต้นยางแต่ละต้นได้ ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาเรื่องของยางพารานั้น มีการลองผิดลองถูกมาหลายปี โดยสิ่งที่เกษตรกรต้องการมากที่สุดคือเรื่องของราคายาง ซึ่งปัจจุบันมูลค่าของยางพาราเพิ่มขึ้นมาก โดยรัฐบาลไม่ต้องมีการจ่ายงบประมาณอะไรเพิ่ม เป็นสิ่งที่การันตีว่าองค์ความรู้ควบคู่กับการบริหารจัดการเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้ปีนี้มั่นใจว่าเมื่อถึงปลายปี ตัวเลขมูลค่ายางพาราจะทะลุ 300,000 ล้านบาทสูงสุดในรอบ 10 ปี ขณะที่ราคายางเฉลี่ยแล้ว มีราคาเพิ่มขึ้น 15-20 บาท ต่อกิโลกรัม ดร.เพิก กล่าว”
ด้าน นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า โครงการรวมใจภักดิ์หลอมรักษ์ สืบสานการพัฒนาที่ยั่งยืน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กยท. ชู ‘สวนยางอารยเกษตร’ คือการประกอบอาชีพทำสวนยางแบบผสมผสานสมดุลใน 3 ส่วน ได้แก่ “สืบสาน” ในสิ่งดี, “รักษา” ในสิ่งเดิม และ “ต่อยอด” สู่สิ่งใหม่และเพื่อให้เกิด 3 สิ่ง คือ ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ให้กับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยพื้นที่ของศูนย์วิจัยยางหนองคายจัดเป็นพื้นที่โชว์สวนยางอารยเกษตร ที่มุ่งสนับสนุนการทำสวนยางที่ลดต้นทุน ไปพร้อมกับการเพิ่มปริมาณผลผลิตยางให้แก่ชาวสวนยางอย่างเป็นรูปธรรม มีแปลงสาธิตต้นแบบแหล่งเรียนรู้ในการจัดการสวนยาง จำลองการใช้พื้นที่สวนยางอย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยน้อมนำศาสตร์ของพระราชามาใช้เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงด้านการส่งเสริมสิ่งแวดล้อม และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งเกษตรกรชาวสวนยางสามารถเรียนรู้การสร้างรายได้ระหว่างรอยางเปิดกรีด เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตได้รับรายได้เสริมจากการทำเกษตรชนิดอื่นๆ ในพื้นที่ของตนเอง ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีพันธุ์ยางใหม่ RRIT 3904 ซึ่งเป็นพันธุ์ยางที่คิดค้นและพัฒนาโดยสถาบันวิจัยยาง กยท. โดยพันธุ์ยางดังกล่าวมีความต้านทานต่อโรคทางใบและสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตในปริมาณที่มากขึ้น
นายสุขทัศน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากการสนับสนุนให้เกษตรกรบริหารจัดการเพาะปลูกสวนยางและจัดการสวนยางตามศาสตร์พระราชาแล้ว กยท. มุ่งส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมด้านยางพาราที่จะช่วยลดต้นทุนในการบริหารจัดการสวนยาง ตลอดจนนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เพิ่มมูลค่าจากยางพาราเหลือใช้กลายเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อสร้างรายได้เพิ่มมาจัดแสดงในรูปแบบนิทรรศการ ได้แก่ หุ่นยนต์กรีดยางพาราเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการกรีด ผ่านการทำงานด้วยความเร็วสูงสุด 25 วินาทีต่อต้น สามารถเพิ่มผลผลิตและลดความเสียหายจากการกรีดบาดชั้นเยื่อเจริญ จึงช่วยยืดอายุการกรีดได้ โดยในอนาคตทีมวิจัยของ กยท. เตรียมพัฒนาให้หุ่นยนต์กรีดยางพาราสามารถทำงานด้วยความเร็ว 15 วินาทีต่อต้น เพื่อย่นระยะเวลากรีดและเพิ่มผลผลิตได้มากยิ่งขึ้น เครื่องกลั่นน้ำมันไบโอดีเซลจากยางพารา (ระบบไพโรไลซิส) เป็นนวัตกรรมที่ใช้ในกระบวนแปรรูปชิ้นส่วนยางที่เหลือจากการแปรรูป เศษยางที่เสื่อมสภาพ, ขี้ยาง ตลอดจนขยะพลาสติกที่เกิดจากกิจกรรมรวบรวมยางให้เปลี่ยนสภาพเป็นน้ำมันรวม นำไปผสมสารเคมีเกิดเป็นน้ำมันเบนซิน ดีเซล น้ำมันต่ำกว่าเกณฑ์ และยางมะตอย สามารถนำไปใช้ประโยชน์เป็นพลังงานเชื้อเพลิงให้กับเครื่องมือทางการเกษตร สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับสหกรณ์เป็นต้นแบบในการจัดการขยะของเสีย เพิ่มมูลค่าจากขยะสู่สร้างรายได้จากน้ำมันเชื้อเพลิง ลดผลกระทบจากความผันผวนของราคายางก้อนถ้วย