Statistiche web
อุดรธานี คปภ. ชูการประกันภัยเป็นเครื่องมือบริหารจัดการความเสี่ยง พร้อมสร้างความเข้าใจการออกคำสั่งทางปกครอง ย้ำยืนหยัดเพื่อประชาชน

นายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายณัฐพงศ์ คำวงศ์ปิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นางนงลักษณ์ ซุ้นหั้ว ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอุดรธานี พลตำรวจตรี สรรธาน อินทรจักร์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี ผศ.ธวัชไชย สนธิวนิช อดีตตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง นายจรุงวิทย์ วิภาวิน อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดอุดรธานี นายเริงชัย เรืองศรี อัยการประจำกอง สำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดอุดรธานี ว่าที่ร้อยตรี รักชัย เลิศสุบิน ปลัดจังหวัดอุดรธานี พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารภาคเอกชน ร่วมเป็นเกียรติในกิจกรรม Dinner  Talk  รับฟังบรรยายพิเศษเกี่ยวกับกระบวนการออกคำสั่งทางปกครองภายใต้บทบาท คปภ. ณ ห้องประชุมยามดี โรงแรมเวลาดี อุดรธานี ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จัดขึ้น ตามโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการออกคำสั่งทางปกครอง ภายใต้บทบาท คปภ. กำหนดจัดขึ้นทั่วประเทศ จำนวน 9 ครั้ง 9 ภาค จังหวัดอุดรธานี เป็นครั้งที่ 9

นายจอม จีระแพทย์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกฎหมายและคดี สำนักงาน คปภ. กล่าวว่า คปภ.พร้อมยืนหยัดเพื่อประชาชน ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีบริษัทประกันภัยออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยหลายประเภทเพื่อรองรับความเสี่ยงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดด้วยกรมธรรม์ประกันภัยโควิดประเภทเจอ-จ่าย-จบ ซึ่งได้รับความนิยม โดยมียอดประกันภัยรวมกันกว่า 4 พันล้านบาท ขณะที่มียอดจ่ายเคลม ไม่ถึง 100 ล้านบาท ต้นปี 2564 สถานการณ์ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หลายบริษัทประกันภัยชะลอการจำหน่าย มีการปรับรูปแบบความคุ้มครอง  และหลายแห่งยกเลิกผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบบเจอ-จ่าย-จบ สำนักงาน คปภ. มีการออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยบริษัทประกันภัยที่ได้รับผลกระทบปัญหาสภาพคล่อง ผ่อนคลายให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวและดำเนินงานในช่วงวิกฤต แต่เมื่อการระบาดหนักมากขึ้นเกิดปัญหาที่มีประชาชนผู้เอาประกันภัยยื่นขอรับค่าสินไหมทดแทนสูงขึ้น มีผลกระทบต่อฐานะและความมั่นคงทางการเงินและเผชิญกับภาวะวิกฤตในการบริหารจัดการบริหารความเสี่ยง ส่งผลให้เกิดการแจ้งยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยไปยังประชาชนผู้เอาประกันภัย นับเป็นการใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริต ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในระบบประกันภัยเป็นอย่างมาก สำนักงาน คปภ. ได้ยืนยันในหลักการ และบทบาทในฐานะหน่วยงานกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยคุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้กับประชาชน เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทประกันภัยบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยจำนวนมาก เพื่อปกป้องผู้เอาประกันภัยกว่าหลายล้านราย ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากการถูกลอยแพด้วยการถูกเลิกสัญญาอย่างไม่เป็นธรรมด้วย นายทะเบียนจึงได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 เพื่อออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 โดยห้ามไม่ให้มีการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยโควิด เพื่อสร้างความเป็นธรรมบรรเทาความเดือดร้อนและคุ้มครองสิทธิของประชาชน ด้วยเหตุนี้ ในปี 2565 จึงมีบริษัทประกันภัย 3 รายได้ยื่นฟ้องสำนักงาน คปภ. ต่อศาลปกครองกลางในประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวข้องกับการออกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว โดยยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสำนักงาน คปภ. กว่า 4 หมื่นล้านบาท ทั้งที่บริษัทประกันภัยมียอดการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพียง 3 หมื่นล้านบาท

ต่อมาบริษัทประกันภัย จำนวน 2 รายถอนคำฟ้อง เหลือเพียงหนึ่งบริษัทยังคงดำเนินการ จนในวันที่ 18 สิงหาคม 2567 ศาลฯ มีคำพิพากษายกฟ้อง ด้วยเหตุผลว่า กรมธรรม์ดังกล่าวเป็นสัญญาสำเร็จรูปโดยมีผู้เอาประกันภัยเป็นผู้บริโภคตามกฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งต้องมีการตีความสัญญาไปในทางที่เป็นคุณแก่ผู้เอาประกันภัย ซึ่งมิได้เป็นผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปนั้น บริษัทประกันภัยจึงไม่สามารถบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยอ้างเหตุอื่นใดตามอำเภอใจของบริษัทได้ และศาลเห็นว่าการออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 นั้น เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เนื่องจากเป็นการใช้บังคับกับสัญญาประกันภัยเกิดขึ้นและยังมีความคุ้มครองอยู่ในวันที่คำสั่งดังกล่าวใช้บังคับเพื่อความเป็นธรรม บรรเทาความเดือดร้อน และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยและประชาชน อันเป็นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบธุรกิจประกันภัยโดยรวม

ด้าน นายชัยยุทธ มังศรี ที่ปรึกษากฎหมายสำนักงาน คปภ. กล่าวถึงระบบประกันภัยและบทบาทการประกันภัย ว่า สำนักงาน คปภ. มีเป้าหมายสำคัญในการผลักดันให้อุตสาหกรรมประกันภัยไทยได้เติบโต มั่นคง และยั่งยืน โดยมีภารกิจที่สำคัญ คือ การสร้างวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยงด้านการประกันภัยเพื่อทำให้ประชาชน รวมถึงภาคเอกชนได้ตระหนักถึงความจำเป็นของการประกันภัย และสามารถใช้การประกันภัยเป็นเครื่องมือบริหารจัดการความเสี่ยง อันส่งผลให้การประกันภัยกลายเป็นส่วนหนึ่ง ในการประกอบธุรกิจหรือการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเร่งพัฒนากลไกการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและทัศนคติที่ดีต่อการประกันภัย ช่วงสถานการณ์โควิด การประกันภัยช่วยให้ประเทศอยู่ได้ เป็นการบริหารความเสี่ยงที่ดี ประชาชนเชื่อมั่นได้ในผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่บริษัทนำออกขาย เพราะได้รับการตรวจสอบจากนายทะเบียนแล้ว ตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535

Share This