จากกรณีชาวบ้านหมู่บ้าน ป.ผาสุขนิเวศน์ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี รวมตัวกันเกือบ 100 คน เพื่อประท้วง ให้ปิดประตูเหล็กหลังหมู่บ้าน โดยผู้รับเหมาจากวัดโมลี อ.บางบัวทอง ได้ทุบกำแพงรั้วหมู่บ้านดังกล่าว เพื่อเปิดทางเข้า-ออกไปที่รกร้างของวัด โดยไม่ได้ขออนุญาต ชาวบ้านเกรงว่ากำแพงที่ถูกทุบจะเป็นช่องทางให้โจรเข้ามาก่อเหตุ ทำให้ทรัพย์สินสูญหาย ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นมีชาวบ้านเพียงส่วนหนึ่งที่ออกมาเรียกร้อง ส่วนชาวบ้านอีกจำนวนมาก ต่างก็เห็นด้วยกับทางวัดที่รื้อกำแพงออกเพื่อให้ใช้เป็นทางเข้า-ออกอีกด้านหนึ่ง เพราะพื้นที่ตรงนี้ได้ยกให้เป็นที่สาธารณะไปนานแล้ว ทางวัดอยากให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์มากกว่าที่จะมามีกำแพงกั้นไว้ ทำให้มีการเกิดข้อถกเถียงแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง ทั้งฝั่งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
นายวสุ ผันเงิน อายุ 55 ปี อดีตสจ.บางใหญ่ และอดีตนายกอบต.บ้านใหม่ ซึ่งได้รับมอบอำนาจและเป็นตัวแทนจากทางเจ้าอาวาสวัดโมลี ได้ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า สืบเนื่องมาจากทางวัดโมลี เมื่อปี 2567 เทศบาลบางบัวทองแจ้งมาว่าต้องจ่ายภาษีเรื่องรกร้างว่างเปล่า ที่ดินแปลงนี้เป็นของวัดโมลีมาตั้งแต่ปี 2488 เป็นที่ดินที่สามีภรรยา 2 คู่ มอบให้ จำนวน 17 ไร่ และ 27 ไร่ ทางเทศบาลได้เก็บภาษีไปแล้ว ทางหลวงพ่อวัดโมลีได้จ่ายภาษีไปเป็นเงิน 530,000 กว่าบาท ไทม์ไลน์คือเมื่อเดือนตุลาคม พฤศจิกายน และธันวาคม ได้มาออกสำรวจ เดือนมกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม และเมษายน เป็นช่วงที่จะต้องจ่ายภาษี ซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก เลยสอบถามทางเทศบาลให้แนะนำจะทำอย่างไร จะเสียภาษีน้อยลง ทางเทศบาลแนะนำว่าให้ทำเกษตร สวนมะม่วง หรือสวนทุเรียนก็ได้ เพื่อไม่ให้ที่ตรงนี้รกร้างว่างเปล่า
นายวสุ กล่าวต่ออีกว่า ทางตนได้รับมอบหมายจากทางเจ้าอาวาสให้เป็นผู้จัดประโยชน์ที่ดินแปลงนี้ไปสำรวจดูแล้วพบว่าด้านใต้ติดหมู่บ้านชลลดา ด้านเหนือติดหมู่บ้านป.ผาสุขนิเวศน์ จากถนนวงแหวนมา 500 เมตร เห็นว่าทางเทศบาลลาดยางประมาณ 4 ล้าน 9 แสนบาท ตามป้าย ซึ่งเป็นโดยปริยายการใช้เงินของเทศบาลต้องลงไปใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะเท่านั้น มีอยู่ช่องทางหนึ่งที่เป็นช่องทางที่เลี้ยวไปที่วัด เลยถือโอกาสว่าตรงนี้ทางเครื่องจักร และคนงาน จะเข้า-ออกได้ เลยนำเครื่องจักรเข้าไป เพื่อจะให้วัดไม่เป็นที่รกร้างว่างเปล่า ประเด็นคือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เคยมีเชียงกงนำคนเข้า-ออก ซากรถเข้า ซากรถออก มีการทุบกำแพง ไม่เห็นมีใครว่าอะไร ทางกรรมการหมู่บ้านก็นิ่งเฉย ทางวัดไม่ได้เป็นเจ้าแรกที่เปิดทางเข้าไป วัดเปิดทางเมื่อเดือนธันวาคม 2567 ซึ่งเปิดเป็นทางสาธารณะแล้ว เพราะฉะนั้นทางหมู่บ้านที่เข้ามาปิดทางวัดไม่ให้เข้า-ออก ทางวัดมองว่าน่าจะเป็นการเข้าใจผิดมากกว่า ช่วงนี้อยู่ในช่วงเลือกตั้งของเทศบาลบางบัวทองด้วย ตนไม่อยากมีเรื่องขัดแย้งกัน ที่สำคัญกำแพงที่ทุบเข้าไปกว้างประมาณ 8 เมตร หนาประมาณ 15 เซ็นติเมตร สูงประมาณ 2 เมตร ถ้าตนไปร้องศาลให้เปิดก็ต้องใช้เวลา ไหนทางวัดต้องเสียภาษีอีกรอบ จำนวนเงิน 500,000 กว่าบาท ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของ
ทางวัดเห็นการทุบแบบนี้ของเชียงกงมาแล้ว ทางวัดได้มีการพูดคุยกับคณะกรรมการหมู่บ้านท่านหนึ่ง ท่านยังบอกขอที่วัดสัก 3 ไร่ เพื่อให้ผู้สูงอายุในหมู่บ้านป.ผาสุขนิเวศน์ ได้ปลูกผัก ออกกำลังกาย จินตนาการกันไว้อย่างดี พอถึงเวลาขึ้นมาเข้าไปทำประตูรั้วกลับมีปัญหา ทางวัดถูกแจ้งความไว้ที่สภ.บางบัวทอง ว่าไปทุบทำลายทรัพย์สิน เบื้องต้นเห็นมีการตั้งโต๊ะเรี่ยไรรวมเงินเพื่อจะนำเงินไปทำรั้วให้เหมือนเดิม ซึ่งตนมองว่าทางชาวบ้าน ไม่รู้เรื่องจริงมากกว่าทางวัดไม่ได้อยากมีปัญหากับหมู่บ้านไม่ให้ทุบกำแพงกลัวขโมยแต่ลืมไปทางเข้าหมู่บ้านไม่ได้มีรปภ. รักษาความปลอดภัย ก่อนหน้านี้เชียงกงก็มีการทุบกำแพงมีซากรถเข้า-ออกไม่เห็นจะทำอะไรได้ แต่พอวัดจะเปิดทางเข้า-ออกกับมีปัญหา 80 ปี วัดไม่มีทางเข้า-ออก ยินดีด้วยถ้าทางหมู่บ้านจะไปทำสวนเศรษฐกิจพอเพียงที่เคยคุยกับกรรมการท่านหนึ่งไว้ เดี๋ยวคงให้ทางสภ.บางบัวทอง เป็นคนกลางในการพูดคุยเจรจา ไกล่เกลี่ย
จากที่ตนดูจากโลกโซเชียลน่าจะเป็นความไม่เข้าใจกันมากกว่า ถ้าได้มีการทำความเข้าใจน่าจะจบกันด้วยดี หมู่บ้านป.ผาสุขนิเวศน์ได้ประโยชน์จากพื้นที่ 44 ไร่แน่นอน อาจจะเป็นสวนสาธารณะ หรือเป็นที่เศรษฐกิจพอเพียงให้คนเฒ่าคนแก่ได้มาใช้ประโยชน์ วัดก็ไม่ต้องเสียภาษี 5 แสนกว่า ถ้ารวมปีนี้ทางวัดจะเสียภาษีกว่า 1 ล้านบาท ตอนนี้ไม่หนักใจอะไรเพราะทำตามกรอบของกฎหมายและกรอบของทางวัดที่ทำได้ ทางวัดไม่อยากให้มีกระทบกระเทือนกับการเลือกตั้งที่จะถึง ตนเป็นนักการเมืองเก่าถ้ามีอะไรผิดปกตินิดหน่อยอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ เรื่องนี้ตนมองว่ามีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องแน่นอน
ภาพ/ข่าว ฉัตรมงคล สิงห์โต ผู้สื่อข่าว จ.นนทบุรี