16 มกราคม 2568 เวลา 13.00 น. ที่อาคารรัฐสภา ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ตอบกระทู้ถามทั่วไป กรณีปัญหาภัยจากช้างป่าบุกรุกที่ทำกินของประชาชน โดย สส. ผู้ถามกระทู้ ได้กล่าวขอบคุณ และชื่นชม ดร.เฉลิมชัย ว่า “ขอขอบคุณ ดร.เฉลิมชัย รมว.ทส. ที่ให้ความสำคัญในการมาตอบกระทู้ในสภา เพราะปัญหาเดียวกันนี้ เคยตั้งกระทู้ถามในการประชุมในสมัยที่แล้ว แต่รัฐมนตรีคนเก่าไม่ได้มาตอบเหมือน รมว.ทส. คนปัจจุบัน
ต่อกระทู้ถามที่ว่า มีแนวทางในการแก้ปัญหาช้างป่าอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร

ดร.เฉลิมชัย กล่าวตอบว่า ในฐานะ รมว.ทส. อยากให้มีเวทีสร้างความเข้าใจปัญหาคนกับช้างป่า ตั้งแต่มาเป็น รมว.ทส. มีหน้าที่รักษาชีวิตประชาชน และหน้าที่อนุรักษ์ช้างไปพร้อมๆกัน ตนมีแนวคิดอยากจะให้คนอยู่ร่วมกับช้างได้โดยที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย วันนี้มีช้างป่าจำนวน 4,000 กว่าเชือกก่อให้เกิดความเสียหาย จากสถิติทั้งการเสียชีวิต การบาดเจ็บ ของประชาชนและเจ้าหน้าที่ ยังไม่นับรวมความเสียหายภาคการเกษตร เป็นความสูญเสียที่ใหญ่หลวง ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ซึ่งช้างมีอัตราการเกิด 7-8% หากปล่อยไปอีก 10 ปีจะมีช้างป่าเพิ่มเป็นเท่าหนึ่งคือ 8,000 กว่าเชือก หากไม่เร่งแก้จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ ซึ่งวันนี้ตนได้ประสานงานกับคณะกรรมการวิสามัญสภาผู้แทนราษฎร และได้เชิญเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้ามาคุยว่าต้องเร่งดำเนินการแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจัง ระดมความคิดหามาตรการอะไรบ้าง ที่สามารถดำเนินการแก้ไขตรงนี้ได้
รมว.ทส. กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 คณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้าง ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกมนตรี เป็นประธาน และมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส.ขณะนั้น เป็นรองประธาน มีอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้เป็นเลขานุการ ทำหน้าที่ในการที่จะบูรณาการความร่วมมือจัดการแก้ปัญหาให้เป็นรูปธรรม ซึ่งในการประชุมครั้งนั้น มีมาตรการ 6 ข้อ ตนได้นำมาตรการทั้ง 6 ข้อนั้น มาดูว่ามีตรงไหนที่ไม่ได้ดำเนินการ และไม่รีบดำเนินการ โดย มาตรการ 6 ข้อ ประกอบด้วย


- การเพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่อาหารให้ช้างป่า เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง อาจมีบางฝ่ายมองว่าคนรุกป่า แต่ตนมองว่าปัญหามีไว้แก้ไข
- การสร้างแนวการช้างป่า ที่ผ่านมามีการทำแนวรั้ว รั้วไฟฟ้า ทำแนวขุดคู ทำเป็นกำแพงกั้น แต่ไม่สามารถกันช้างป่าได้ เพราะ 1.ช้างมีพัฒนาการ 2.งบประมาณที่ได้รับไม่ต่อเนื่อง ไม่เพียงพอ ยกตัวอย่าง พื้นที่ปัญหามีความยาม 50 กิโลเมตร แต่ทำได้เพียง 20 กิโลเมตร มีช่องว่าง 30 กิโลเมตรก็ไม่สามารถเป็นแนวกันช้างได้
- การจัดชุดเฝ้าระวัง ผลักดันช้างป่า ซึ่งตรงนี้เครือข่าย มีทั้งอาสา เจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ และในจำนวนผู้เสียชีวิตที่ก็เจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ หลายท่านทั้งบาดเจ็บ และเสียชีวิต
- การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่าออกมาสร้างความเดือดร้อน ทั้งเรื่องของเงินช่วยเหลือฉุกเฉิน กองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่า
- การจัดการพื้นที่รองรับช้างป่าอย่างยั่งยืน เราได้ดำเนินการในส่วนของ 5 กลุ่มป่า 1.กลุ่มป่าตะวันออก 2.กลุ่มป่าตะวันตก และกลุ่มป่าแก่งกระจาน 3.กลุ่มป่าคลองเขาสก 4.กลุ่มป่าเขาเขียวน้ำหนาว 5.กลุ่มป่าดงพญาเย็น เขาใหญ่
- แก้ปัญหาอัตราการเพิ่มของช้าง 7-8% หรือ 10% ในพื้นที่ที่มีอุดมสมบูรณ์ที่ทำให้อัตราการเกิดของช้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่พื้นที่ที่อยู่ และเป็นอาหารกลับมีอยู่เท่าเดิมหรือน้อยกว่าเดิม
“เมื่อปริมาณช้างมากขึ้น ขอบข่ายของการเดินหาอาหารของช้างป่าก็จะขยาย มากขึ้น จนเข้าสู่พื้นที่ภาคการเกษตรของประชาชน เราจึงมีมาตรการว่าหากเราจะดำเนินการ1-5 ได้ผล เราต้องมีการควบคุมประชากรของช้างป่าให้อยู่นิ่งก่อน เพื่อที่จะได้ดำเนินการในเรื่องของการเพิ่มพื้นที่ป่า เพิ่มพื้นที่อาหาร การดำเนินการกั้นรั้ว แนวรั้ว ตั้งโครงการอาสา หรือผลักดันช้างโดยเจ้าหน้าที่ถึงจะดำเนินการได้” รมว.ทส.กล่าว
รมว. ทส. กล่าวต่อว่า ดังนั้นจึงมีการคิดค้นวัคซีนเพื่อคุมกำเนิดช้าง (ไม่ใช่การทำหมัน) เพื่อให้รอบการเกิดของช้างน้อยลง จะได้จัดการปัญหาอย่างอื่นได้ และวัคซีนตัวนี้ได้รับการรับรองแล้วว่าไม่มีอันตราย โดยทดลองใช้กับช้างบ้าน มีผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์อย่างชัดเจน “การดำเนินการก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จะดำเนินการในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดเสียก่อน การดำเนินการตรงนี้จะสามารถใช้กับช้างเพศเมียที่เคยมีลูกแล้วเท่านั้น วัคซีนจะไปมีฤทธิ์ในการควบคุมฮอร์โมน สามารถควบคุมได้ 7 ปี ซึ่งเชื่อว่าใน 7 ปี เราจะสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าเพิ่มพื้นที่อาหารเพื่อแก้ปัญหาช้างได้ดีขึ้น ดีกว่าปล่อยให้ปริมาณช้างขยายไปเรื่อย ๆ จนไม่สามารถควบคุม” รมว. ทส. กล่าว

รมว. ทส. กล่าวอีกว่า วันนี้นอกจากติดตามการดำเนิน 6 มาตรการแล้ว ยังมีการ เพิ่มอาสาสมัครและนำเทคโนโลยีโดยบินโดรนตามแนวป่ากับแนวพื้นที่ประชาชน เพื่อให้รู้การเคลื่อนไหวของช้างป่าว่าช้างมีการเคลื่อนออกมาจากป่าวันไหน ชุดปฏิบัติการและชุดอาสาจะเข้าไปผลักดันช้างได้ทันท่วงที
ต่อกระทู้ถามว่า มีแนวทางในการที่จะปรับหลักเกณฑ์การชดเชยเยียวยาให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบอย่างไร
ดร.เฉลิมชัย กล่าวตอบว่า ในส่วนของการเยียวยาจะมีทั้งหมด 3 ประเภท 1.การเยียวยาเรื่องการบาดเจ็บ ทุพพลภาพ หรือ เสียชีวิต 2.การเยียวยาความเสียหายภาคการเกษตร 3.เป็นส่วนที่กรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการสงเคราะห์ช่วยเหลือสวัสดิการให้กับเจ้าหน้าที่พร้อมทั้งอาสาสมัครที่เข้ามาดำเนินการในส่วนของการช่วยผลักดันช้างและเฝ้าระวังช้าง
“การเยียวยามีหลักเกณฑ์ในการดำเนินการเป็นภาพรวม เราไม่สามารถที่จะแยกได้ว่าช้างก่อให้เกิดความเสียหาย จะต้องเยียวยาเป็นจำนวนเท่านั้น เท่านี้ วัวกระทิง หรือ สัตว์ต่างๆ ก่อให้เกิดความเสียหายจะต้องมีความเสียหายชดเชยเท่ากับเท่านี้ เท่านั้น ทำไม่ได้ เพราะในระบบราชการถูกกำหนดไว้เป็นระเบียบว่าในกรณีที่เกิดความเสียหายจากภัยธรรมชาติ จากสัตว์ป่า ถูกกำหนดชัดเจนว่าจะได้รับการเยียวยาประเภทละ ซึ่งแต่ละประเภทไม่เท่ากัน เป็นไม้ยืนต้นเท่าไหร่ เป็นพืชล้มลุกเท่าไหร่ ซึ่งตรงนี้ผมขอรับไปเพื่อจะปรึกษาว่าเราจะสามารถเพิ่มค่าชดเชยตรงนี้ให้กับพี่น้องประชาชนที่รับผลกระทบได้หรือไม่ ตนทราบดีว่าบางครั้งเงินชดเชยเยียวยาที่ได้ไม่คุ้มกับความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ราชการก็ไม่สามารถจะให้เกินไปกว่ากำหนดในระเบียบได้ ผมยอมรับว่าเป็นความหนักใจของคนทำงาน แต่จะนำเรื่องนี้ไปปรึกษาหาทางแก้ไขว่าสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง”ดร.เฉลิมชัย กล่าว

ดร.เฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องของการได้รับบาดเจ็บก็จะมีประกาศหลักเกณฑ์และการช่วยเหลือความเยียวยาจากผลกระทบจากสัตว์ป่า พ.ศ. 2567 ที่จะช่วยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่าทุกชนิด ก็จะมีกำหนดไว้เป็นระเบียบว่าในกรณีเช่นนี้สามารถดำเนินการได้อย่างไรบ้าง ในส่วนของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีเงินอนุรักษ์ขอใช้จ่ายเงินอนุรักษ์สัตว์ป่า ประเภท ข. ที่จะดำเนินการให้ในส่วนของผู้บาดเจ็บ ทุพพลภาพ อัมพาต สูญเสียแขน สายตา ตาบอดสองข้าง รายละ 100,000 บาท
ในส่วนบาดเจ็บทั่วไปจ่ายจริงไม่เกิน 30,000 บาท ค่าขาดประโยชน์ในการรักษาจำนวนไม่เกิน 300 บาทต่อวัน ไม่เกิน 180 วัน กรณีเสียชีวิตได้ 100,000 บาทเป็นต้น ซึ่งตรงนี้จะมีเงินกองทุนที่จะไปดำเนินการให้ตนได้เชิญเจ้าหน้าที่ ข้าราชการที่เกี่ยวข้องมาหาหรือว่าเราจะสามารถทำอย่างไรที่จะดูแลพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้ได้มากกว่านี้ รวมทั้งเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครเคลื่อนที่เร็วต่างๆมีหน้าที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยหน้าในการผลักดันช้างเหล่านั้น ก็ได้รับผลกระทบอัตราการเสี่ยงสูงตรงนี้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็จะดูแลในส่วนของการทำประกันให้กับบุคลากรเหล่านั้นเพื่อที่จะได้ทำงานด้วยความสบายใจว่าเมื่อมีการได้รับบาดเจ็บ จะมีการตอบแทนจากภาครัฐเพิ่มขึ้น
“ทั้งหมดเป็นมาตรการที่เราได้ดำเนินการอยู่ ระเบียบต่างๆ ก็มีใช้มานาน เพราะฉะนั้นราคาสิ่งที่ตอบแทนอาจจะไม่สอดคล้องตามความเป็นจริงมากนัก แต่ระเบียบต่างๆถูกออกมาใช้ เพื่อใช้กับทั้งประเทศ เมื่อถูกใช้สำหรับทั้งประเทศ การแก้ไขแต่ละเรื่องจึงมีผลกับงบประมาณรวมกับของทั้งประเทศเหมือนกัน ก็จะเป็นภาระกับงบประมาณพอสมควร แต่ว่าอย่างไรก็ตามเห็นว่าควรมีการชดเชยให้ผู้ได้รับผลกระทบมากกว่านี้ ผมขอยืนยันว่าจะผลักดันเรื่องนี้ต่อไป และจะใช้เงินกองทุนของกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และจะเร่งดำเนินการทันที เพราะถ้าเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้อีก 10 ปีหรือ 20 ปีข้างหน้าปัญหานี้จะเป็นปัญหาระดับชาติ และจะไม่ใช่เฉพาะพื้นที่ในแนวแนวต่อของป่าอย่างเดียวจะลามมาถึงในเขตเมือง เขตภาคการเกษตรที่อยู่ในเมืองมากยิ่งขึ้น” ดร.เฉลิมชัย กล่าว