คุณภิญญ์ชยุตม์ อัครกุลศานต์ ประธานบริษัท เอ็ม กรุ๊ป โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เอ็ม กรุ๊ป ให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรมมาเพิ่มคุณค่าให้กับทรัพยากรธรรมชาติเพื่อความยั่งยืน โดยขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้ BCG Model ยึดหลักการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม 3 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่จะนำวัสดุกลับมาใช้ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด โดยทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้อยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืนไปพร้อมกัน ดังนั้น การดำเนินธุรกิจของเอ็ม กรุ๊ป เราจึงนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ใช้ความรู้และคุณธรรม เพื่อให้ธุรกิจสามารถพึ่งพาตัวเองได้ และแบ่งปันไปถึงสังคม ด้วยเหตุนี้ บริษัทฯ จึงนำคุณค่าจากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมมาสร้างเป็นมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ โดยการนำผลผลิตทางการเกษตรมาปรับเปลี่ยนระบบการผลิตและการบริโภคที่นำไปสู่กระบวนการที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อรักษาความสมดุลและตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
“ล่าสุด บริษัท M GREEN ENVIRONMENT CO., LTD บริษัทในเครือเอ็ม กรุ๊ป โฮลดิ้ง ที่มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจในการดูแลสิ่งแวดล้อม จึงได้ร่วมมือกับบริษัท เฮิร์บ อินโนเทค จำกัด ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยสมุนไพรไทย ได้ร่วมกันทดลองและต่อยอดการนำสมุนไพรไทยที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนรำมะสัก จังหวัดอ่างทอง มาร่วมกันพัฒนานวัตกรรมเป็นผลิตภัณฑ์ Aqua Best กำจัดตะกรัน และป้องกันการเกิดตะกรันจากหินปูนที่เกิดขึ้นตามพื้นผิวของระบบที่น้ำไหลผ่านภายในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งช่วยลดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์”
คุณปรียาวรรณ คำอยู่ ผู้บริหาร บริษัท M GREEN ENVIRONMENT CO.,LTD กล่าวว่า ปัจจุบันกระบวนการกำจัดขยะและกากของเสียในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ จะเป็นการใช้สารเคมีที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อมีการนำสมุนไพรมาใช้แทน ก็สามารถช่วยลดต้นทุน ลดมลพิษ และทำให้กระบวนการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดดล้อมมากขึ้น ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ป้องกันและกำจัดตะกรันจากสมุนไพรไทย (Aqua Best) ซึ่งพัฒนาร่วมกับพันธมิตรอย่าง เฮิร์บ อินโนเทค ได้มีการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ เช่น เกาหลีและฟิลิปปินส์ และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากมูลค่าการใช้ผลิตภัณฑ์ในการกำจัดตะกรันซึ่งเป็นสารเคมีในตลาดโลก สูงถึง 1.5 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ปีละประมาณ 6 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นโอกาสดีที่เราจะขยายตลาดในการนำสมุนไพรไทยไปทดแทนการใช้สารเคมี สามารถตอบโจทย์ในเรื่องของความยั่งยืนของโลก ลดการใช้สารเคมี ลดโลกร้อน เพื่อยกระดับสมุนไพรไทยไปสู่ตลาดอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรและเกษตรกรให้เติบโตอย่างยั่งยืน สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในการเป็นผู้นำด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ขณะที่ พ.ท.ชเนศร์ บุตรเทพ ผู้เชี่ยวชาญด้านสารสกัดสมุนไพร บริษัทเฮิร์บ อินโนเทค จำกัด กล่าวว่า จากประสบการณ์กว่า 20 ปีในการค้นคว้าศึกษาทดลองรวบรวมข้อมูลด้าน Bio -extracted จากสมุนไพรสกัดโดยการใช้น้ำด่างธรรมชาติมาเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการสกัดและนำมาผสมกับส่วนที่ได้มาจากขบวนการ Bio-fermented จากพืชสมุนไพรและผลไม้ เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในการกำจัดและป้องกันการเกิดตะกรันในระบบทำความเย็นให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่าเป็นธรรมชาติ 100% แต่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนพบว่าสมุนไพรไทยจากภูมิปัญญาชาวบ้านของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนรำมะสัก จังหวัดอ่างทอง มีคุณสมบัติที่สามารถนำมาต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ป้องกันและกำจัดตะกรันและเมือกในระบบทำความเย็น จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์กำจัดตะกรันที่มีทั้งแบบน้ำและชนิดอัดเป็นก้อน โดยเฉพาะชนิดอัดก้อนถือเป็นนวัตกรรมแรกของโลก ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันตะกรันที่เกาะแน่นแล้ว ยังมีการสร้างฟิลม์ Hydrophobic บนผิวโลหะ ลดการกัดกร่อน ลดความกระด้างของน้ำ กำจัดแบคทีเรีย ตะไคร่ และป้องกันการเกิด Biofilm
นางสงัด พรมเมศ ประธานวิสาหกิจชุมชนรำมะสัก จังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า การนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาต่อยอดจนสามารถใช้ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำสมุนไพรมาต่อยอดในการกำจัดและป้องกันการเกิดตะกรันในภาคอุตสาหกรรมถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของสมุนไพรไทย เพราะกว่าจะมาถึงวันนี้เราทำการทดลองหลายครั้ง และมีกระบวนการที่ซับซ้อน เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพที่ดีที่สุด ซึ่งไม่เพียงช่วยลดการใช้สารเคมี แต่ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างรายได้ให้กับชุมชน นับเป็นความภาคภูมิใจที่ช่วยยกระดับวิสาหกิจชุมชน และส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตอย่างยั่งยืน